ก.พลังงาน ปลดล็อคส่งเสริมโซล่าร์ฟาร์ม ชูมติบอร์ดบริหารพลังงานหมุนเวียน ไฟเขียวดัน 178 โครงการค้างท่อ ชี้มีโครงการพร้อม 25 แห่ง กำลังผลิต 138 เมกะวัตต์ เตรียมเซ็น PPA

12 Dec 2014
ก.พลังงาน ปลดล็อคส่งเสริมโซล่าร์ฟาร์ม ชูมติบอร์ดบริหารพลังงานหมุนเวียน ไฟเขียวดัน 178 โครงการค้างท่อ ชี้มีโครงการพร้อม 25 แห่ง กำลังผลิต 138 เมกะวัตต์ เตรียมเซ็น PPA และขายไฟเข้าระบบในปี 58 ส่วนโครงการติดปัญหา 153 แห่ง ให้ พพ. เป็นแม่งานเร่งบูรณาการแก้ปัญหาด้านสายส่งและพื้นที่ตั้งโครงการ หวังดันทุกโครงการด้านพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบจ่ายไฟได้ ด้านโครงการโซล่าร์ฟาร์มจากสหกรณ์มั่นใจมีเกณฑ์ชัดเจน และต่อไปจะมอบให้ สกพ. (เรกูเลเตอร์) จัดให้มีกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ One-Stop-Service ภายในปี 58

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในวันนี้ (8ธค.) มีประเด็นพิจารณาที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งเป็นฝ่ายรับไปเจรจาได้นำเสนอและถือเป็นประเด็นสำคัญคือ การตอบรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินหรือโซล่าร์ฟาร์ม ซึ่งจากมติในที่ประชุมฯ นั้น ได้มีข้อสรุป ดังนี้

การเห็นชอบในหลักการในการตอบรับซื้อไฟฟ้าข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (กลุ่มที่ยื่นในหลักการเสนอขอขายไฟก่อนปิดรับซื้อในเดือนมิถุนายน 2553 และยังไม่ได้รับการพิจารณาตอบรับซื้อ) จำนวนทั้งสิ้น 178 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 1,013 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่ตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วส่วนที่สายส่งไฟฟ้ารองรับได้หรือผ่านข้อกำหนดทางเทคนิคการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบไฟฟ้าของ กฟผ. และไม่ติดปัญหาที่ดิน จำนวน 25 โครงการ กำลังการผลิต 138 เมกะวัตต์ ที่ประชุมมีมติมอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และกำกับการพัฒนาโครงการให้สามารถขายไฟฟ้าให้สามารถเข้าระบบภายในปี 2558

ทั้งนี้ ในส่วนที่โครงการที่ตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วส่วนที่สายส่งไฟฟ้ารองรับไม่ได้ หรือไม่ผ่านข้อกำหนดทางเทคนิคฯ หรือติดปัญหาที่ดินในกลุ่มโซลาร์ฟาร์มที่เหลือ 153 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 875 เมกะวัตต์ พพ. จะทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอโครงการให้สามารถย้ายที่ตั้งโครงการได้ โดยหากสามารถเปลี่ยนที่ตั้งโครงการได้แล้ว พพ. จะได้ทำหน้าที่เป็น One-Stop-Service ในการรับเรื่องและประสานงานกับการไฟฟ้าและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ

ตรวจสอบพื้นที่โครงการตามขั้นตอนต่อไป และจะเร่งรัดดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือน 31 มีนาคม 2558 เท่านั้น โดยการดำเนินการเกี่ยวกับทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวจะมีรายงานให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทราบต่อไป

“กระทรวงพลังงานได้เริ่มก้าวแรกในการทยอยปลดล๊อคโครงการโซล่าร์ฟาร์ม และพลังงานทดแทนทุกชนิด ที่ค้างการพิจารณาอยู่จำนวนมากจากมติ กพช. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการให้โอกาสสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจจริงที่จะร่วมกับกระทรวงพลังงาน ในการเดินหน้านโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนไปด้วยกัน จากนี้จะได้เร่งพิจารณาโครงการฯที่ติดปัญหาหลัก ๆ เช่นเรื่องการรองรับของสายส่ง พื้นที่ตั้งโครงการโดยเร็ว และจะได้มอบหมายให้การไฟฟ้าทั้ง 2 การ (กฟผ. และกฟภ.) เริ่มขั้นตอนของการทยอยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป” นายอารีพงศ์ กล่าว

นายอารีพงศ์ กล่าวเพิ่มว่า ภายในการประชุมฯ ได้มีการรายงานความคืบหน้าและพิจารณาหลักเกณฑ์และแนวทางดำเนินการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร รวม 800 เมกะวัตต์ และเบื้องต้นจะให้อยู่ในรูปแบบที่เปิดให้บริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการนั้น โดยหลักเกณฑ์ซึ่งได้มีการพิจารณาเพื่อคัดเลือกโครงการ ที่ประชุมฯ ได้กำหนดกรอบไว้อาทิ ให้มีการกำหนดพื้นที่และปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า ณ จุดเชื่อมโยงในแต่ละเขตการให้บริการไฟฟ้า (Zoning) โดยพิจารณาจากความพร้อมในการรองรับโครงการของสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้า ที่จะประกาศให้ทราบทั่วถึงก่อนรับข้อเสนอโครงการ

สำหรับแนวทางรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่อไปในอนาคตนั้น ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ Regulator ไปจัดระเบียบและบูรณาการ 3 การไฟฟ้า จัดให้มีขั้นตอนและบริการแบบ One-Stop-Service โดยคาดหวังว่า จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาช่วยพัฒนาให้ระบบการกำกับการรับซื้อไฟฟ้าให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จแก่ประชาชนและผู้ประกอบการได้