สำนักโลจิสติกส์ กพร. ลดต้นทุนภาคอุตฯ กว่า 3,500 ล้านบาท ยึดอันดับ 3 ในอาเซียน มั่นใจอนาคตศักยภาพระดับผู้นำอาเซียน

23 Sep 2014
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งลดต้นทุนโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรม คาดปี 2557 ต่ำกว่า 7% คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,500 ล้านบาท ดึงผู้ประกอบการรายใหม่เข้าร่วม เผยระบบโลจิสติกส์ไทย อันดับ 3 อาเซียน เป็นผู้นำกลุ่ม CLMV เชื่อพร้อมยกระดับขึ้นเป็นผู้นำอาเซียน

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ ยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลดต้นทุนภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการในภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2557 จากการสำรวจพบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายของกลุ่มอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในปี 2555 พบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายอยู่ที่ 7.27% ลดจากปีก่อนหน้านั้นซึ่งอยู่ที่ 8.47% ขณะที่ในปี 2557 คาดว่า จะมีต้นทุนโลจิสติกส์ลดลงต่ำกว่า 7% โดยเมื่อพิจารณาส่วนประกอบแล้ว ต้นทุนโลจิสติกส์ประกอบด้วยต้นทุนสินค้าคงคลัง ต้นทุนการขนส่งสินค้า และต้นทุนบริหารจัดการ ซึ่งส่วนของต้นทุนสินค้าคงคลังนั้นยังสามารถลดลงได้อีกมาก

“กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักโลจิสติกส์ หน่วยงานภายใต้สังกัด กพร. ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงอย่างต่อเนื่องทุกปีผ่านโครงการต่าง ๆ จากนั้นจะมีการเก็บข้อมูลซึ่งเชื่อว่า ปี 2557 จะลดลงต่ำกว่า 7% แน่นอน” นายอาทิตย์กล่าว

นายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานในเบื้องต้นพบว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรมกว่า 30 โครงการของสำนักโลจิสติกส์ ช่วยลดต้นทุนได้กว่า 3,500 ล้านบาท พัฒนาบุคลากรกว่า 7,500 คน ดึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหม่มากกว่า 500 รายเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของไทยสำหรับการพิจารณาระบบโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรมไทย พบว่า ภาพรวมอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน เป็นผู้นำในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม จุดเด่นของไทยคือผู้ประกอบการมีการนำระบบโลจิสติกส์และระบบไอทีมาใช้ในการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและสามารถลดต้นทุนในภาคอุตสาหกรรมได้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าระบบโลจิสติกส์ของไทยยังเป็นรองมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งมีการใช้งานระบบไอทีอย่างเข้มข้นและมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์กว่า แต่หากพิจารณาจากผลผลิตหรือผลิตภาพ (Productivity) ของภาคอุตสาหกรรมแล้ว ประเทศไทยมีอัตราผลิตภาพที่สูง ดังนั้น หากมีการเร่งรัดพัฒนาด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นไปตามแผนงานของ กพร. และสำนักโลจิสติกส์ เชื่อว่าในอนาคตไทยสามารถยกระดับมาตรฐานขึ้นอยู่ในระดับผู้นำอาเซียนได้อย่างแน่นอน

“เรื่องภาษาอังกฤษ และการนำระบบไอทีไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังพัฒนาขึ้นตามมาเลเซีย แต่ถ้าในเรื่องผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยทำได้ดีกว่า ดังนั้น อนาคตการจะแซงหน้ามาเลเซีย ในด้านการจัดการโลจิสติกส์จึงมีความเป็นไปได้” นายปณิธานกล่าวนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กล่าวว่า ปี 2557 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 117 ล้านบาท จากการดำเนินกว่า 30 โครงการตลอดทั้งปี เห็นแนวโน้มชัดเจนว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยให้ความสนใจและนำระบบไอทีไปใช้งานมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยรู้แล้วว่า หากจะยกระดับมาตรฐานเพื่อรับมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี และแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลก การนำระบบไอทีมาใช้คือหนึ่งในหัวใจสำคัญ

ขณะที่ในปี 2558 สำนักโลจิสติกส์ได้รับจัดสรรงบประมาณ 87 ล้านบาท โดยมีโครงการหลักที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการใหม่ เช่น RFID, Zoning, Packaging และ Logistics Connect ซึ่งเน้นสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาธุรกิจและบุคลากรด้านโลจิสติกส์รองรับการขยายงานในระดับภูมิภาค เป็นต้น

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมการขนส่ง และอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ยังมีการเติบโตอยู่มาก ตรงกับแนวโน้มที่ต้องการพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง และศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค