พม. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม

10 Sep 2014
นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน OSCC

ศูนย์ช่วยเหลือสังคมของบ้านพักเด็กและครอบครัวและสายด่วน ๑๓๐๐ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม รุ่นที่ ๑ และมอบนโยบายการดำเนินงาน OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม” ณ สถาบันวิชาการทีโอที (TOT Academy) ถนนงามวงศ์วาน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนารูปแบบการให้บริการระบบ OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาเชื่อมโยงการดำเนินงาน เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม (คุณแม่วัยใส) การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ อย่างเป็นองค์รวมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนที่ประสบปัญหาเข้าถึงบริการความช่วยเหลือด้วยความสะดวก รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และครอบคลุมสภาพปัญหา ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงาน OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม

ให้มีประสิทธิภาพ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เพื่อเป็นศูนย์ประสาน สนับสนุน ให้คำปรึกษา แนะนำการดำเนินงาน OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคมทั่วประเทศ รวมถึงทำหน้าที่บริหารจัดการข้อมูลและพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไก บุคลากร และกระบวนงานด้วย

นายพุฒิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สายด่วน ๑๓๐๐ OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม เป็นนวัตกรรมใหม่ในการให้บริการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคม โดยมีเป้าหมายในอนาคตมุ่งไปยัง ๒ มิติ ได้แก่ ๑) มีระบบการทำงานพัฒนาไปสู่ความสำเร็จ เพื่อให้ระบบการทำงานราชการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ OSCC Application ที่สามารถส่งต่องานจากผู้แจ้งเหตุไปยังผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาต่างๆ ๒) การให้ความช่วยเหลือหรือระบบการทำงานไม่ได้หยุดการช่วยเหลือ เพียง ๔ ประเด็น แต่ต้องพัฒนาการทำงานไปในประเด็นปัญหาอื่นๆ ทั้งนี้ การทำงานต้องมีการพัฒนาทั้งสองส่วน ได้แก่ ผู้ปฏิบัติต้องสามารถทำงานได้อย่างครอบคลุม เน้นการทำงานกับผู้ใช้บริการเป็นหลัก สามารถให้คำปรึกษาและให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับบ้านพักเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ จะทำหน้าที่เป็นหน่วยรับแจ้งเหตุและเบาะแส (Front line ๑) การให้บริการช่วยเหลือ รวมทั้งสามารถทำหน้าที่เป็น Case Manager ส่วนกรณีปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ มีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นหน่วยให้บริการหลัก (Front line ๒) โดยในทางปฏิบัติสามารถมอบผ่านระบบสารสนเทศ OSCC Application ให้บ้านพักเด็กและครอบครัวเป็น Case Manager หรือทำหน้าที่เป็น Front line ๒ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจนถึงยุติการให้บริการได้ ซึ่งบ้านพักเด็กและครอบครัวต้องมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งกระบวนงานการให้บริการและการใช้งานระบบ OSCC Application เพื่อบันทึกข้อมูลการให้บริการ และการส่งต่อในการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาต่อไป

นายพุฒิพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพสายด่วน ๑๓๐๐ โดยขณะนี้ได้ดำเนินการถ่ายโอนการให้บริการสายด่วน ๑๓๐๐ จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ มาให้บริการ ณ จุดเดียวที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม เพื่อให้ประชาชนผู้ประสบปัญหาได้รับบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งด้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และการให้บริการภาษาอาเซียน และภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ภาษาพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน ยาวี และอังกฤษ โดยเตรียมระบบโทรศัพท์รองรับการถ่ายโอนเป็น ๓๐ คู่สาย และในอนาคตสามารถขยายให้รองรับได้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คู่สาย

ซึ่งได้วางระบบการประสานส่งต่อบริการจากสายด่วน ๑๓๐๐ ไปยังหน่วยงานให้บริการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยกรณี ๔ ประเด็นของ OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม เจ้าหน้าที่สายด่วน ๑๓๐๐ รับแจ้ง ให้คำปรึกษาและบันทึก OSCC Application เพื่อส่งเรื่องไปยังหน่วยงานเจ้าภาพหลักในพื้นที่ให้บริการ

สำหรับในภาวะวิกฤติทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มอบหมายให้หน่วยเคลื่อนที่เร็วของศูนย์ช่วยเหลือสังคมให้การช่วยเหลือเบื้องต้น และส่งต่อบ้านพักเด็กและครอบครัว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ส่วนภูมิภาคมอบหมายให้บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด ๗๖ จังหวัด ในส่วนปัญหาอื่นๆ มอบหมายให้บ้านพักเด็กและครอบครัว ๗๗ จังหวัดรับผิดชอบดำเนินการต่อไป กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้มีการวางระบบ Internet Phone เชื่อมโยงระหว่างสายด่วน ๑๓๐๐ และบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัดในการโอนสายจากระบบสายด่วน ๑๓๐๐ ได้ในทันที โดยไม่ต้องวางสายและต่อสายใหม่

“ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานบ้านพักเด็กและครอบครัว ที่มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา จึงต้องได้รับความรู้เพิ่มเติมในการใช้งานผ่านระบบ OSCC Application ที่จะสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นายพุฒิพัฒน์ กล่าวตอนท้าย