“มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ” จับมือ “ชุมชนท่าม่วง” ประกาศ “สัญญาประชาคม CODE” รวมพลังภาคีเครือข่าย เร่งผลักดัน “พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกฯ”

03 Sep 2014
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย” ร่วมกับตำบลนมแม่ “เทศบาลตำบลท่าม่วง” อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ประกาศสัญญาประชาคม จับมือองค์กรภาคีเครือข่ายและภาคประชาสังคม เร่งผลักดัน “พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (CODE)” เพื่อปกป้องสิทธิ์ของเด็กทารกให้ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน พร้อมกระตุ้นสังคมไทย ให้ตระหนักและรู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดของนมผง
“มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ” จับมือ “ชุมชนท่าม่วง” ประกาศ “สัญญาประชาคม CODE” รวมพลังภาคีเครือข่าย เร่งผลักดัน “พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกฯ”

แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าการละเมิด CODE ของบริษัทผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ด้วยการทำการสื่อสารการตลาดในรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นอุปสรรคที่สำคัญของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบัน ด้วยอิทธิผลของการโฆษณาที่สร้างภาพและความเชื่อว่านมผงดีเทียบเท่านมแม่ โดยระบุว่ามีสารอาหารต่างๆ ทั้ง ครบถ้วน ทำให้แม่เกิดความเข้าใจผิด ตัดสินใจหันไปใช้นมผงมากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่มีอาหารอะไรที่มีคุณค่าและสามารถทดแทนนมแม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยลดต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 12 ซึ่งน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดในกลุ่มประเทศอาเซียน“ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตนมผงได้รุกเข้าไปทำตลาดถึงในชุมชน เป็นผลให้ชุมชนต้องออกมาปกป้องแม่และเด็กในชุมชนของตนเอง ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวตำบลท่าม่วง ดังนั้นหากมีพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ก็จะช่วยปกป้องเด็กไทยทั่วประเทศจากการละเมิด CODE ของบริษัทนมผงได้” พญ.ยุพยง กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ให้ได้ร้อยละ 60 ภายในปี 2558 หรือตั้งเป้าให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรกให้ได้ 4.8 แสนคนน และส่งเสริมให้นมแม่อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับอาหารตามวัยเป็นระยะเวลา 2 หรือนานกว่านั้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทย จะต้องช่วยกันสนับสนุนและผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง ตัวแทนคณะผู้วิจัยจาก “โครงการการสื่อสารเพื่อสนับสนุนนมแม่และผลักดันร่างพ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กฯ” เปิดเผยว่า การวิจัยกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดของบริษัทนมผงและการละเมิด CODE พบว่าอุตสาหกรรมนมผงได้ใช้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเชิงบูรณาการโดยมีเครื่องมือการสื่อสารที่สำคัญ 7 ประการได้แก่ การโฆษณา, การส่งเสริมการขาย, พนักงานขาย, การขายตรง, การตลาดอนเตอร์เน็ต, การแสดงสินค้า ณ จุดขาย และบรรจุภัณฑ์ โดยรูปแบบดังกล่าวล้วนแต่เป็นการละเมิด CODE ทั้งสิ้น จากอิทธิผลของการสื่อสารการตลาดเหล่านี้ได้สร้างวาทกรรมและมายาคติที่ส่งผลต่อความคิดและความเชื่อแก่แม่ว่าสารอาหารในนมผงมีเทียบเท่ากับนมแม่ผ่านการใช้ภาษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ อีกทั้งการใช้ภาษาโฆษณายังสร้างความกังวลใจให้กับแม่ว่านมแม่อาจมีสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความลังเลใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก

การสื่อสารการตลาดที่ละเมิด CODE ในปัจจุบัน มีผลให้แม่เชื่อและลังเลว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้วใช่นมผงร่วม หรือจะใช้นมผงอย่างเดียว แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจ คือการใช้บุคลากรทางการแพทย์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารการตลาดในรูปแบบต่างๆ อาทิ การเป็นวิทยากร การแจกตัวอย่างนม หรือการใช้พื้นที่ของสถานพยาบาลแสดงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของนมผง ดังนั้นเราจึงควรเร่งผลักดันให้ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้โดยเร็ว” ดร.บวรสรรค์ระบุ

นางศิริพรรณ ภัทรสิริวรกุล อสม.ดีเด่น ประจำปี 2553 เปิดเผยว่า ตำบลท่าม่วงได้รับการคัดเลือกให้เป็นชุมชนนมแม่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาตั้งแต่ปี 2551 ด้วยการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาล สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 เริ่มตั้งแต่กระบวนการฝากครรภ์ มี อสม. คอยดูแลติดตามช่วยเหลือหลังคลอดถึงที่บ้าน มีการจัดมุมนมแม่ในโรงงาน การให้ความรู้ในโรงเรียน รวมไปถึงการรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ให้มีจิตสำนึก เกิดความตระหนัก และเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่บริษัทนมผงขอติดต่อเข้ามาจัดกิจกรรมแจกนมผงในโรงพยาบาล โรงเรียน และชุมชน ทำให้ชมรม อสม. ร่วมกันหาวิธีการรับมือป้องกัน จึงจัดการรณรงค์ไม่ให้มีการจำหน่ายนมผงในร้านค้าที่อยู่พื้นที่ของชุมชน ซึ่งปัจจุบันร้านค้าทั้ง 7 แห่งในตำบลท่าม่วงไม่มีนมผงจำหน่าย นอกจากนี้ให้ อสม.ลงเยี่ยมเยียนช่วยเหลือสนับสนุนแม่หลังคลอดทุกคน เพื่อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน หรือมากกว่านั้น “การจัดเวทีสัญญาประชาคม CODE ของชาวท่าม่วงในครั้งนี้ ต้องการแสดงให้ทุกคนรู้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีประโยชน์และมีคุณค่าทั้งกับตัวแม่และเด็กมากกว่านมผง และจะเป็นการดีหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถประกาศบังคับใช้ ก็จะช่วยให้เป้าหมายของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 100 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นจริงได้เร็วมากขึ้น” อสม. ดีเด่นกล่าว

สำหรับ “พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้ผ่านการขับเคลื่อนจากหน่วยงานต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขและภาคประสังคมมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการได้รับการรับรองจากภาคีเครือข่ายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เมื่อปี 2553 โดยคณะรัฐมนตรีได้รับรองมติของที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2554 และปัจจุบัน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอยู่ในระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบและประกาศเป็นกฏหมายที่มีผลบังคับใช้ต่อไป

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยจะต้องร่วมกันสนับสนุนและผลักดันให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้ เพื่อปกป้องเด็กไทยทุกคนให้ได้รับโอกาสในการกินนมแม่ ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักและรู้เท่าทันในกลยุทธ์การตลาดของนมผง เพื่อ ปกป้อง ส่งเสริม และ สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

“มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ” จับมือ “ชุมชนท่าม่วง” ประกาศ “สัญญาประชาคม CODE” รวมพลังภาคีเครือข่าย เร่งผลักดัน “พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกฯ” “มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ” จับมือ “ชุมชนท่าม่วง” ประกาศ “สัญญาประชาคม CODE” รวมพลังภาคีเครือข่าย เร่งผลักดัน “พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกฯ” “มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ” จับมือ “ชุมชนท่าม่วง” ประกาศ “สัญญาประชาคม CODE” รวมพลังภาคีเครือข่าย เร่งผลักดัน “พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกฯ”