ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร และแนวโน้ม “บ. สวนอุตสาหรรมโรจนะ” ที่ “BBB+/Stable”

28 Oct 2014
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ที่ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถของผู้บริหารบริษัท ตลอดจนรายได้ที่สม่ำเสมอจากการขายไฟฟ้า การกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์ของนิคมอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้ร่วมทุนสัญชาติญี่ปุ่น ทั้งนี้ ความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่เคยประสบอุทกภัยที่ยังไม่แน่นอน และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานภาพในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจไฟฟ้า โดยสัดส่วนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กระแสเงินสดของบริษัทและจะช่วยบรรเทาความผันผวนของธุรกิจขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรม

บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลวินิชบุตรและกลุ่มซูมิโตโม (Sumitomo Group) นอกเหนือจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งไฟฟ้า และสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมในประเทศไทยด้วย ในปี 2555 บริษัทได้ซื้อกิจการนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรวม 4 แห่งในจังหวัดอยุธยา ระยอง และปราจีนบุรี

ความต้องการที่ดินในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยายังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่หลังจากบริเวณดังกล่าวประสบปัญหาอุทกภัยในปลายปี 2554 บริษัทขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาได้ 65 ไร่ในปี 2555 และ 93 ไร่ในปี 2556 เทียบกับระดับปกติที่ขายได้ 400-650 ไร่ต่อปีในช่วงก่อนเกิดอุทกภัย อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในจังหวัดปราจีนบุรีอีก 175 ไร่และในจังหวัดระยองอีก 55 ไร่ในปี 2556 ทำให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมโดยรวมของบริษัทยังอยู่ในระดับปานกลางในปี 2556 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์และปัญหาการเมืองในช่วงแรกของปีทำให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมโดยรวมชะลอตัวลง บริษัทขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้รวม 202 ไร่ในครึ่งแรกของปี 2557 โดยประมาณ 80% เป็นการขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรี ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินในจังหวัดอยุธยา ณ เดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีที่ดินคงเหลือในนิคมอุตสาหกรรมสำหรับขายทั้งหมด 5,690 ไร่ โดยประมาณ 50% อยู่ในจังหวัดอยุธยา 25% อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี และอีก 25% อยู่ในจังหวัดระยอง

นอกจากธุรกิจสวนอุตสาหกรรมแล้ว บริษัทยังถือหุ้น 41% ใน บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาด้วย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 บริษัทโรจนะ พาวเวอร์ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 432 เมกะวัตต์ โดยการผลิตไฟฟ้าจำนวน 180 เมกะวัตต์เป็นการผลิตเพื่อขายให้แก่การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือนั้นจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา อุทกภัยในปี 2554 ส่งผลให้บริษัทต้องปิดการดำเนินงานเพื่อซ่อมแซมโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปลายปี 2554 จนถึงปี 2555 การซ่อมแซมและเปลี่ยนอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าดำเนินการแล้วเสร็จในปลายปี 2555 และโรงไฟฟ้าเริ่มทยอยกลับมาผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2556 บริษัทโรจนะ พาวเวอร์ ขายไฟฟ้ารวม 1,453 ล้านหน่วย (Gigawatt hours -- GWh) ในปี 2556 และ 1,091 ล้านหน่วยในครึ่งแรกของปี 2557 โดยเป็นการขายให้แก่ กฟผ. จำนวน 727 ล้านหน่วย และขายให้แก่ลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมจำนวน 364 ล้านหน่วย โดยปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมดังกล่าวคิดเป็น 70% ของปริมาณที่ขายในช่วงก่อนเกิดอุทกภัย แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้ลูกค้าจะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่แต่บริษัทก็สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. ได้เพิ่มขึ้น โดยปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ กฟผ. เพิ่มขึ้นเป็น 364 ล้านหน่วยต่อไตรมาสในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เทียบกับในระดับปกติที่บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. ประมาณ 160 ล้านหน่วยต่อไตรมาส ในปี 2554 การเพิ่มขึ้นของปริมาณจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. เป็นผลจากโรงไฟฟ้าขนาด 110 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP แห่งที่ 2 ของบริษัทได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ดังนั้นบริษัทจึงจำหน่ายไฟฟ้ารวม 180 เมกะวัตต์จากเดิม 90 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. ตามสัญญา SPP ตั้งแต่กลางปี 2556 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. จำนวน 70 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP ประเภทสัญญา Non-Firm ตั้งแต่ต้นปี 2557 ด้วย ผลจากการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและการชะลอตัวของการขายที่ดินทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 80% ของ EBITDA รวมของบริษัท ที่เหลืออีก 20% มาจากธุรกิจขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและคอนโดมิเนียม

รายได้ของบริษัทฟื้นตัวขึ้นเป็น 9,155 ล้านบาทในปี 2556 จาก 6,171 ล้านบาทในปี 2555 เนื่องจากการขายคอนโดมิเนียมในประเทศจีนและการกลับมาดำเนินการผลิตได้ใหม่ของโรงไฟฟ้าขนาด 267 เมกะวัตต์เดิมรวมกับการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าใหม่ขนาด 156 เมกะวัตต์ แม้ว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในปี 2556 แต่ความสามารถในการทำกำไรกลับลดลงอย่างมากเพราะการผลิตของโรงไฟฟ้ายังเดินเครื่องได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และคอนโดมิเนียมที่ประเทศจีนก็มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับต่ำ อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยของบริษัทลดลงเป็น 8.8% ในปี 2556 เทียบกับ 23.4% ในปี 2555 EBITDA ลดลง 41.9% เมื่อเทียบกับปี 2555 เป็น 774 ล้านบาทในปี 2556 ในระหว่างปี 2556 บริษัทได้จำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 2 แห่งในประเทศจีนและได้บันทึกกำไรรวมจำนวน 487 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้บันทึกเงินชดเชยจากบริษัทประกันส่วนที่เหลืออีกจำนวน 963 ล้านบาทในปี 2556 รายการพิเศษเหล่านี้ทำให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิรวม 580 ล้านบาทในปี 2556 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 รายได้รวมของบริษัทยังคงอยู่ในระดับดีที่ 4,581 ล้านบาทแม้ว่ารายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจะมีจำนวนเพียง 79 ล้านบาทก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้นเป็น 13.2% แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตรากำไรปกติที่ 20%-30% โดยอัตรากำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้ายังอยู่ในระดับต่ำเพียง 9.9% เทียบกับระดับปกติที่บริษัทเคยทำได้ 15% ในช่วงปี 2552 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 สัดส่วนรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ลดลงยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ดึงให้อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยลดลงเพราะปกติธุรกิจขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจซึ่งให้อัตรากำไรสูง ในครึ่งแรกของปี 2557 EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 ล้านบาท จากเพียง 59 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2556 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังอ่อนแออยู่ที่ระดับ 1.76 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงเพราะความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงและภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจากการลงทุนที่ต่อเนื่อง เงินกู้จากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจาก 12,244 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 19,752 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 66.7% ณ เดือนมิถุนายน 2557 จากระดับ 60% ในระหว่างปี 2552-2553 ภาระเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการลงทุนจำนวนมากในการสร้างโรงไฟฟ้าและซื้อนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในระหว่างปี 2555-2556

คาดว่าในอนาคตฐานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะทยอยฟื้นตัวโดยลำดับเพราะการมีรัฐบาลใหม่เข้าทำหน้าที่ตามปกติหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่รอโอนในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้ารวมจำนวนประมาณ 3,000 ล้านบาทและโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 24 เมกะวัตต์ก็ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ทั้งหมดแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ดังนั้น ผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2557 บริษัทได้ประกาศแผนเพิ่มทุนโดยออกหุ้นใหม่จำนวน 360 ล้านหุ้นเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 หากผู้ถือหุ้นใช้สิทธิเพิ่มทุนครบจำนวน บริษัทจะได้รับเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนจะนำเงินบางส่วนไปเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (TICON) จากปัจจุบัน 26% เป็นไม่เกิน 49% ภายใน 1 ปีข้างหน้า โดยผู้ถือหุ้นของ TICON ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TICON ได้ไม่เกิน 49.9% โดยได้รับการผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท (Whitewash) นอกจากการลงทุนนี้แล้ว บริษัทยังวางงบลงทุนอีกปีละประมาณ 1,000 ล้านบาทสำหรับการซื้อที่ดินและการพัฒนาพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ ขนาด 110 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP มูลค่า 4,700 ล้านบาทในระหว่างปี 2558-2559 การขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน TICON จะเพิ่มกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและช่วยให้บริษัทยิ่งลดการพึ่งพิงรายได้จากการขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนสูงลงไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน)(ROJNA) อันดับเครดิตองค์กร: BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable