นิด้าโพล เผยผลสำรวจ“มุมมองของประชาชนต่อระบบราชการและการปฏิรูประบบราชการไทย”

13 Oct 2014
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพลสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “มุมมองของประชาชนต่อระบบราชการและการปฏิรูประบบราชการไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9 – 10 ตุลาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,249 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัญหาและมุมมองต่อระบบราชการของไทย และความเชื่อมั่นต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ในการปฏิรูประบบราชการของไทย อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็น วิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงปัญหาต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการไทยที่ประชาชนเคยพบเจอ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.79 ระบุว่า ยังไม่เคยพบเจอปัญหาใด ๆ รองลงมา ร้อยละ 29.86 ระบุว่า ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่ใส่ใจประชาชน ร้อยละ 20.18 ระบุว่า การทำงานที่ไม่มีคุณภาพ ขาดการพัฒนา ร้อยละ 15.61 ระบุว่า การทำงานไม่โปร่งใส ไม่ซื่อสัตย์และมีการคอร์รัปชัน ร้อยละ 13.45 ระบุว่า ข้าราชการไม่เป็นมิตร ทำตัวเป็นนายประชาชน ร้อยละ 12.89 ระบุว่า ไม่มีความเป็นธรรม ใช้ระบบ เส้นสายในการปฏิบัติหน้าที่ ร้อยละ 9.85 ระบุว่า การทำงานที่ไม่เป็นระบบ ไม่มีการประสานงาน ร้อยละ 9.13 ระบุว่า ขั้นตอนการปฎิบัติราชการที่มากมายและยุ่งยากซับซ้อน ร้อยละ 5.44 ระบุว่า ชอบทำงานแบบผักชีโรยหน้า ร้อยละ 3.36 ระบุว่า ถูกอิทธิพลทางการเมืองครอบงำ ร้อยละ 2.88 ระบุว่า ประชาชนเข้าถึงยาก (เช่น การขอเอกสาร การเข้าพบผู้ใหญ่) ร้อยละ 2.56 ระบุว่า การใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของข้าราชการ ร้อยละ 0.72 ระบุว่า ทำงานโดยใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองเกินเหตุ ร้อยละ 0.56 ระบุว่า ยึดมั่นในกฎระเบียบมากจนเกินเหตุ ร้อยละ 1.28 ไม่ระบุ

เมื่อถามถึงความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบบราชการไทย พบว่า ร้อยละ 16.33 ระบุว่า มีความศรัทธาต่อระบบราชการไทยมาก ร้อยละ 54.12 ระบุว่า ค่อนข้างมีความศรัทธาต่อระบบราชการไทย ร้อยละ 23.54 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความศรัทธาต่อระบบราชการไทย ร้อยละ 5.13 ระบุว่า ไม่มีความศรัทธาต่อระบบราชการไทยเลย และ ร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อความคุ้มค่าของภาษีอากรที่ประชาชนจ่ายไปกับผลการปฏิบัติงานของข้าราชการไทย พบว่า ร้อยละ 12.41 ระบุว่า มีความคุ้มค่ามาก ร้อยละ 39.63 ระบุว่า ค่อนข้างมีความคุ้มค่า ร้อยละ 30.51 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความคุ้มค่า ร้อยละ 14.89 ระบุว่า ไม่มีความคุ้มค่าเลย และ ร้อยละ 2.56 ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความมั่นใจของประชาชนต่อความสามารถของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในการปฏิรูประบบราชการไทย ร้อยละ 19.77 ระบุว่า มั่นใจมาก ร้อยละ 37.63 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ ร้อยละ 24.98 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ ร้อยละ 9.61 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย ร้อยละ 8.01 ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และจากการสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึก ในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าค่อนข้างมั่นใจถึงมั่นใจมาก ให้เหตุผลเพราะว่า มีความเชื่อมั่นต่อการบริหารของรัฐบาล คสช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาและปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยการนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นคนพูดจริง ทำจริง และที่ผ่านมามีผลงานและรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมั่นใจถึงไม่มั่นใจเลย ให้เหตุผลเพราะว่า ระบบราชการไทยมี

โครงสร้างที่ใหญ่และสลับซับซ้อน และปัญหาบางอย่างเป็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน ยากเกินกว่าที่จะแก้ไข เช่น การใช้ เส้นสายหรือระบบอุปถัมภ์ การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ อีกทั้งยังมีการแบ่งพรรค แบ่งฝ่าย หรือกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องของผลประโยชน์ ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการปฏิรูประบบราชการไทย

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 19.94 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 53.32 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 46.44 เป็นเพศหญิง และ ร้อยละ 0.24 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 7.07 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 26.97 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 51.18 มีอายุ 40 – 59 ปี และ ร้อยละ 14.78 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป

ตัวอย่างร้อยละ 94.54 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.80 นับถือศาสนาอิสลาม และ ร้อยละ 0.65 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 21.50 สถานภาพโสด ร้อยละ 75.57 สถานภาพสมรสแล้ว และร้อยละ 2.93 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 32.03 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 37.57 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 11.90 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 16.46 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.04 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.72 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.10 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 25.51 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.79 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 17.85 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 14.18 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ร้อยละ 2.85 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 13.53 ระบุว่าไม่มีรายได้ ร้อยละ 27.38 มีรายได้ต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 30.50 มีรายได้ต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.61 มีรายได้ต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.20 มีรายได้ ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 5.04 มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และ ร้อยละ 8.73 ไม่ระบุรายได้