พม. เร่งช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ๕๓ ราย พร้อมคัดแยกเหยื่อไม่ทราบสัญชาติเพิ่มอีก ๗๙ ราย

17 Oct 2014
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๑๙/๒๕๕๗ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พมจ.) จังหวัดพังงา ได้รายงานความคืบหน้าในการช่วยเหลือผู้เสียหาย ชาวโรฮิงญา (บังคลาเทศ และเมียนมาร์) จำนวน ๕๓ ราย ซึ่งอำเภอตะกั่วป่าได้ส่งตัวชาวโรฮิงญาทั้งหมด พร้อมบันทึกการจับกุม และการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมไปยังสถานีตำรวจภูธรตะกั่วป่า เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานการค้ามนุษย์ และได้จับกุมคนไทยจำนวน ๒ คน เป็นผู้ต้องหาในฐานะเป็นผู้นำพาชาวโรฮิงญา ขณะนี้ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ พมจ. จังหวัดพังงา เร่งดำเนินการ คัดแยกเหยื่อและช่วยเหลือร่วมกับทีมสหวิชาชีพ อาทิเช่น นายอำเภอตะกั่วป่าและพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตะกั่วป่าใน การดำเนินการคุ้มครองสิทธิ การชี้แจงแก่ผู้เสียหายให้ทราบถึงสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองกรณีจากการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ รวมทั้งขั้นตอนในการดำเนินการช่วยเหลือ และส่งตัวกลับประเทศอย่างปลอดภัย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑

นอกจากนี้ อำเภอตะกั่วป่ามีการจับกุมชาวต่างด้าวไม่ทราบสัญชาติเพิ่มเติมอีก ๗๙ ราย โดยตนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ พมจ. จังหวัดพังงา เร่งประสานบ้านพักเด็กและครอบครัว ตลอดจนทีมสหวิชาชีพเข้าร่วมกันคัดแยกเหยื่อ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในขั้นตอนต่อไป

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เร่งจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ โดยศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC รายงานว่ามีการพบเห็นชายพิการแขนขาขาด จำนวน ๔ – ๕ คน รวมกลุ่มกันขอทาน ณ ตลาดนัด วัดพานิชวนาราม จังหวัดชัยนาท ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในลักษณะเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์ จึงได้มอบหมายให้สำนักงาน พมจ. จังหวัดชัยนาท เร่งลงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อตรวจสอบข้อเท็จในเบื้องต้น

“กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เร่งเข้าช่วยเหลือเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ อายุ ๗ ขวบ ที่ถูกชายวัยรุ่น อายุ ๑๙ ปี ทำร้ายร่างกายและข่มขื่นกระทำชำเราภายในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดพิจิตร โดยตนได้ให้เจ้าหน้าที่ พมจ. จังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่และเร่งให้ความช่วยช่วยเหลือโดยด่วน ทั้งนี้ ได้เข้าไปเยียวยา ฟื้นฟูสภาพจิตใจของเหยื่อให้ดีขึ้น ในขั้นแรกก่อน” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย