สวรส. ร่วมเคลื่อนมติสมัชชา ศึกษากลไกกำหนดนโยบายตรวจสุขภาพ

16 Oct 2014
จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 มติ 1 เรื่องนโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน โดยขอให้ทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ศึกษาการจัดตั้งกลไกหรือหน่วยงานระดับชาติที่มีบทบาทและหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริการที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพ นอกจากนี้ ในมติได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานปลัดกระทรวงและกรมการแพทย์ เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับภาคี ร่วมกำหนดนโยบายนั้น
สวรส. ร่วมเคลื่อนมติสมัชชา ศึกษากลไกกำหนดนโยบายตรวจสุขภาพ

เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จัดประชุม “การพัฒนาข้อเสนอรูปแบบองค์กร โครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และกลไกความเชื่อมโยงเพื่อการจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาระบบบริการตรวจสุขภาพ” โดยมี ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการ สวรส. เป็นประธาน พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ศ.พญ.สยมพร ศิรินาวิน รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ นพ.วิวัฒน์ โรจนวิทยากร ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้แทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมหารือในการพัฒนาข้อเสนอดังกล่าว ณ ห้องประชุมสุวิชา ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ

ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ดังกล่าว ได้ขอให้ สวรส. ดำเนินการศึกษาจัดตั้งกลไกหรือหน่วยงานระดับชาติ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริการที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพ ในการกำหนดหลักเกณฑ์/แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม การตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐาน การให้ความรู้หรือคำปรึกษาแก่ประชาชน และติดตามการดำเนินงานนั้น สวรส. ในฐานะองค์กรวิชาการมีความพร้อมในการดำเนินงานตามมติ ในการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อปิดช่องว่างที่ยังคงเป็นปัญหาในสังคม

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สวรส. กล่าวว่า จากการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเกี่ยวกับมตินี้ ทาง สวรส. พร้อมที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยต้องหารือกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน เบื้องต้นจึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒมาร่วมหารือ คือ กรมการแพทย์ สปสช. HITAP คณะแพทย์ รพ.รามาธิบดี ในการพัฒนาข้อเสนอรูปแบบองค์กร โครงสร้าง บทบาทหน้าที่ ของกลไกกำหนดนโยบายตรวจสุขภาพ

ในการประชุมครั้งนี้ทาง สวรส. ได้เสนอร่างกรอบวิธีดำเนินการ ประกอบไปด้วย 1.จัดตั้งคณะทำงานจัดกระบวนการและพัฒนาข้อเสนอรูปแบบองค์กร โครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และกลไกความเชื่อมโยงเพื่อการจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาระบบบริการตรวจสุขภาพ โดยทีมวิชาการที่มีความรู้ ประสบการณ์ และตัวแทนจากหน่วยงานสุขภาพ ภาครัฐและเอกชน ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการวิจัยนี้ 2.คณะทำงานจัดประชุมในแต่ละด้าน เช่น ด้านการกำหนดนโยบาย ด้านการตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐาน การติดตามการดำเนินงานในการตรวจสุขภาพของทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น และ 3.นำข้อมูลมาประมวลร่วมกันเพื่อจัดทำรายละเอียดข้อเสนอเชิงวิชาการสำหรับการจัดตั้งองค์กร โครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และกลไกความเชื่อมโยงเพื่อการจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาระบบบริการตรวจสุขภาพ โดยมีระยะเวลาการศึกษา 6 เดือนระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 – เมษายน 2558

ทางด้านมุมมองของ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เสนอว่า จากมติสมัชชาสุขภาพถือว่าเป็นหน้าที่ในความรับผิดชอบของ สธ. ที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว โดยในส่วนของกรมการแพทย์สามารถดำเนินการในบทบาทที่ดูแลได้ และหากหน่วยงานในสังกัด สธ. เข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพจะเกิดพลังในการร่วมมืออีกมาก โดยมี สวรส. ร่วมเป็นฝ่ายจัดการให้ทุกภาคส่วนมารวมกัน ทั้งนี้จะต้องขอปรึกษากับทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง

“เชื่อว่าประเด็นนี้จะเกิดผลดีต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ เช่น การช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการตรวจสุขภาพที่ไม่จำเป็นของประชาชนได้ ทั้งนี้เสนอว่าทาง สช. ควรเสนอมติในประเด็นนี้ให้ทาง ครม. พิจารณาและมอบเป็นนโยบายให้กับทาง สธ. ดำเนินการต่อ รวมถึงจำเป็นต้องใช้ฐานความรู้จากงานวิจัยมาสนับสนุนการทำงาน เช่น ประชาชนจะได้อะไรจากนโยบายฯ” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.วิวัฒน์ โรจนวิทยากร เสนอว่า ในระยะแรกควรเสนอมติดังกล่าวให้ทางกระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพหลักมอบให้หน่วยงานในสังกัด เช่น กรมการแพทย์ กำหนดว่า การคัดกรองสุขภาพประเภทใด กลุ่มประชากรใด ควรตรวจหรือไม่ควรตรวจ ด้วยเหตุผลอะไร แล้วทำการศึกษาประเมินว่ากลไกดังกล่าวทำหน้าที่เป็นอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมดำเนินการตามกลไกที่มีอยู่นี้ได้กำหนดไว้หรือไม่ หากไม่ก็เห็นควรให้มีองค์กรอิสระมากำหนดนโยบายการคัดกรองสุขภาพ โดย สวรส. ต้องศึกษากลไกใหม่นี้ว่าควรเป็นอย่างไร

ศ.พญ.สยมพร ศิรินาวิน มองว่า ระบบสุขภาพในอนาคตควรเป็นระบบที่เจ้าของไม่ใช่เพียงกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น เช่น เรื่องเขตบริการสุขภาพ ก็ไม่ควรออกกรอบการทำงานที่ทำเพียง กสธ. เท่านั้น แต่ควรเป็นเขตบริการสุขภาพที่มีฐานมาจากภาคประชาชนหรือการมีส่วนร่วมเป็นหลัก อาทิ จากมหาวิทยาลัย และส่วนอื่นๆ ในระบบสุขภาพที่อยู่นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แนวคิดเรื่องของนโยบายการตรวจสุขภาพฯ ก็เช่นกัน เป็นประเด็นที่มีเรื่องของผลประโยชน์ที่ต้องใช้งบประมาณรัฐมาบริหารจัดการ ฉะนั้นการกำหนดหรือเสนอแนวทางปฏิบัติ ควรมีการทำงานที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายหรือองค์กรที่อิสระร่วมเสนอแนวทางที่เหมาะสม เพื่อผลักดันนโยบาย

นางนิรชา อัศวธีรากุล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากมติสมัชชาสุขภาพเรื่องนโยบายการตรวจสุขภาพฯ ขณะนี้เรามีผลการศึกษาบ้างแล้ว เช่น การทบทวนวรรณกรรมต้นแบบจากประเทศแคนาดาหรืออังกฤษ ข้อเสนอจาก สวรส. HITAP รวมทั้งภาคีที่ได้เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเข้าสู่กระบวนการนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ โดยเนื้อหาในมติดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขท่านปัจจุบัน ที่เน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรไทยตลอดช่วงชีวิตในกลุ่มวัย และการจัดการโรคติดต่อ/ภัยคุกคามด้านสุขภาพ เชื่อว่าผู้กำหนดนโยบายพร้อมสนับสนุนในการศึกษาและพัฒนากลไกการทำงาน

ทางด้าน น.ส.กฤษณา จงส่งเสริม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เห็นด้วยหากมีองค์กรกลางในการตรวจสุขภาพแต่ละกลุ่มวัย ที่ผ่านมา สปสช. มีชุดสิทธิประโยชน์ ที่ร่วมพัฒนากับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งให้บริการมาแล้วตั้งแต่ปี 2553 อย่างไรก็ตามได้มอบให้ HITAP ทบทวนชุดสิทธิประโยชน์ทั้งหมดว่าในแต่ละกลุ่มวัยควรได้รับการตรวจสุขภาพที่จำเป็นเหมาะสมควรมีอะไรบ้าง อะไรบ้างที่ไม่จำเป็นหรือคุ้มค่า จากนั้นจะนำผลการทบทวนเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ สปสช. เดือนพฤศจิกายนนี้“ที่ผ่านมาพบปัญหาที่ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ (UC) พยายามเรียกร้องสิทธิให้มีการตรวจสุขภาพประจำปีให้เท่าเทียมทุกสิทธิ เช่น เจาะเลือด ตรวจตับ ปอด ไต เป็นต้น แต่ชุดสิทธิประโยชน์ UC ก็มีข้อจำกัด ตัวอย่างการคัดกรองสุขภาพที่ต้องตรวจ Lab หรือ X-Ray ผู้ป่วยจะต้องมีปัจจัยเสี่ยงและจำเป็นจริงๆ จึงใช้สิทธิได้ มองว่าอนาคตหากมีองค์กรกลาง จะสามารถนำข้อมูลการศึกษามาพัฒนาการคัดกรองสุขภาพได้อย่างเป็นระบบ”

ทั้งนี้การพัฒนาข้อเสนอดังกล่าว อยู่ระหว่างกระบวนการเตรียมจัดตั้งคณะทำงานในด้านต่างๆ ต่อไป

สวรส. ร่วมเคลื่อนมติสมัชชา ศึกษากลไกกำหนดนโยบายตรวจสุขภาพ