การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2557 ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา

06 Oct 2014
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังได้เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและผู้ว่าการของธนาคารโลก มีกำหนดจะเข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2557 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคม 2557 ณ สำนักงานใหญ่ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีกำหนดจะเข้าร่วมงาน THAI-Forum เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยต่อนักลงทุนสหรัฐฯ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 8 ตุลาคม 2557

การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2557 เป็นการประชุมร่วมระหว่างผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศของสมาชิก 188 ประเทศ โดยแนวคิดหลักของการประชุมในปีนี้ ได้แก่

การส่งเสริมการสร้างความมั่งคั่งร่วมกันในโลกที่ไม่เท่าเทียมกัน : ความท้าทายหลักและบทบาทของธนาคารโลก ที่มีเป้าหมายสำคัญในการลดความยากจน และสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก 2 ประการ (Twin Goals) ของธนาคารโลกที่ได้ประกาศไว้ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะมีสุนทรพจน์เกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจไทยและและมุมมองต่อการดำเนินงานของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศเผยแพร่ต่อที่ประชุมฯอีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน10 ประเทศ และกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนและความร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศในภูมิภาค และในโอกาสนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเข้าร่วมในพิธีลงนามในความตกลงเพื่อการจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาค (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้แก่ประเทศกลุ่มอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับ AMRO จากสถานะบริษัทจำกัดขึ้นเป็นองค์การระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ในการเป็นหน่วยงานติดตาม ประเมิน และเฝ้าระวังทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 และสนับสนุนการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ซึ่งเป็นกลไกการให้ความช่วยเหลือที่สำคัญในภูมิภาค

อนึ่ง คณะผู้แทนไทยมีกำหนดหารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศชั้นนำต่างๆ อาทิ Standard Chartered Bank, Barclays Bank, HSBC เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาคมโลกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของไทย ตลอดจนนำเสนอแนวนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลที่จะมุ่งพัฒนาประเทศในระยะต่อไป