ฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS) ไตรมาสที่ 3 (เมษายน – มิถุนายน 2557) และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557

01 Oct 2014
“การใช้จ่ายของภาคสาธารณะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ”

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบ สศค. (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และรัฐวิสาหกิจ) ในช่วง ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2557 ว่า ภาคสาธารณะเกินดุลการคลัง 149,516 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของ GDP) เกินดุลต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 62,357 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 - มิถุนายน 2557) ภาคสาธารณะมีรายได้ 5,549,149 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 38,106 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นสำคัญ สำหรับผลการเบิกจ่ายมีทั้งสิ้น 5,793,961 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 217,129 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 โดยเป็นผลจากทั้งรัฐบาล อปท. และรัฐวิสาหกิจมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 244,812 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.0 ของ GDP) ขาดดุลสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 179,023 ล้านบาท หรือร้อยละ 272.1 ทั้งนี้ ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและทิศทางของนโยบาย การคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายจ่ายชำระหนี้) ขาดดุล 87,878 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของ GDP)

นายกฤษฎาฯ สรุปว่า “การขาดดุลการคลังของภาคสาธารณะในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 เป็นไปตามนโยบายการคลังของรัฐบาลที่จัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ”