นิ่วในถุงน้ำดีภาวะเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

01 Oct 2014
ตับ คืออวัยวะที่ผลิตน้ำดีนำมาเก็บไว้ในถุงน้ำดี เพื่อใช้ในการย่อยอาหารและขับของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งในน้ำดีมีส่วนประกอบของสารสามอย่างคือคอเลสเตอรอล(Cholesterol) กรดน้ำดี (bileacid)เกลือน้ำดี (bile salt)ฉะนั้นหากสารสามตัวดังกล่าวไม่สมดุลหรือตัวใดตัวหนึ่งผิดปกติจึงทำให้ตกตะกอนเป็นก้อนหรือที่เรียกว่านิ่วในถุงน้ำดีและ 80% เกิดจากคอเลสเตอรอล

นิ่วในถุงน้ำดี อาจเกิดได้จากหลากหลายปัจจัยที่เกื้อหนุนกัน ซึ่งนายแพทย์สุทัศน์ โชตะพันธ์ศัลยแพทย์ รพ. ธนบุรี2กล่าวว่า ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหรือผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก อายุประมาณ 40 ปีและผู้ที่มีภาวะเสี่ยงที่เป็นเกี่ยวกับโรคเลือด เช่นโรคโลหิตจาง(ธาลัสซีเมีย) ที่สำคัญคือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง

“โดยทั่วไปยังหาทางป้องกันยาก เพราะสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุฉะนั้นการที่คนไข้จะรู้ได้ว่าตนเองอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่ ก็ควรตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งแพทย์จะแนะนำได้ และสามารถตรวจพบด้วยการตรวจเลือดและอัลตร้า-ซาวด์อีกอย่างหนึ่งคือ ปรับพฤติกรรมการกินอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดซึ่งมีน้ำมันเยอะ มาเป็น ปิ้ง ย่าง นึ่ง ต้ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ”

คุณหมอกล่าวถึงอาการว่าโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง หลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง ที่ต้องการช่วยย่อยมากๆจะปวดเป็นพักๆแล้วค่อยหายไปหรือปวดท้องใต้ชายโครงขวาเป็นครั้งคราวปวดท้องรุนแรง และปวดร้าวไปถึงสะบักด้านขวาหากมีอาการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างเฉียบพลัน ไข้ก็จะสูงเฉียบพลันได้เช่นกันบางรายตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้มเป็นต้น

คุณหมอย้ำว่า การรักษาที่แก้ปัญหาได้ถาวรคือ การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เพื่อไม่ให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆได้ ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดมี 2 วิธีคือ

1.ผ่าตัดแบบเดิม โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy)หรือในรายที่มีอาการอักเสบมากแตกทะลุในช่องท้องและผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดภายในช่องท้องและมีพังผืดกั้นเป็นม่านขวางอวัยวะใกล้เคียงต้องเลาะออกซึ่งยากต่อการผ่าตัดแบบส่องกล้อง จะมีแผลประมาณ 7-8 ซม.

2. ผ่าตัดส่องกล้อง โดยการเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าท้อง (Laparoscopic Cholecystectomy)4 ตำแหน่งขนาดประมาณ 0.5ซม. 3 ตำแหน่ง และขนาด 1 ซม.ที่สะดืออีก 1 ตำแหน่งใส่กล้องที่มีก้านยาวๆ และเครื่องมือต่างๆผ่านรูที่ผนังหน้าท้องลงไป ศัลยแพทย์จะสามารถมองเห็นถุงน้ำดีและอวัยวะต่างๆจากจอโทรทัศน์ซึ่งกล้องส่งสัญญาณภาพมาและเลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตับใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนไหมเย็บแผล ก่อนตัดขั้วของถุงน้ำดี แล้วเลาะส่วนที่เหลือให้หลุดออกตัดถุงน้ำดีบรรจุใส่ถุงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ แล้วดึงออกจากร่างกายบริเวณรูสะดือและสำรวจความเรียบร้อยเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนดึงเครื่องมือและกล้องออกแล้วเย็บปิดแผล กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน สามารถทำได้สำเร็จถึงร้อยละ 95 แต่ถ้าอักเสบเฉียบพลันเกิน 3 วัน โอกาสผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้สำเร็จจะน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในปัจจุบันมักจะเลือกผ่าตัดด้วยการส่องกล้องมากกว่าการผ่าตัดแบบเดิม เพราะแผลเล็กดูแลง่ายหายเร็วกว่า โอกาสติดเชื้อน้อยกว่าแผลใหญ่ ปวดน้อยกว่า อีกทั้งอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน ซึ่งถ้าผ่าตัดแบบเดิมประมาณ 7-10 วัน การพักฟื้นหลังผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1สัปดาห์ ถ้าผ่าตัดแบบเดิมใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 เดือน

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit