ศ.ศ.ป. คัดเลือก 10 “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ผู้สืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ร่วมจัดแสดงผลงาน และสาธิตการทำผลงาน

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. จัดโครงการประกวด “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” เพื่อสืบสาน และอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมมรดกอันล้ำค่าของไทยให้คงอยู่สืบไป ด้วยการคัดเลือกช่างฝีมือผู้สืบทอดงานหัตถกรรม 10 ท่าน ซึ่งเป็นผู้สืบสายเลือดโดยตรงจากครูช่างหรือช่างศิลป์ฯ หรือบุคคลภายในครอบครัว หรือลูกศิษย์ที่สืบสานงานศิลปหัตถกรรม ใน 9 สาขา คือ สาขาเครื่องไม้ เครื่องจักสาน เครื่องดิน เครื่องทอ เครื่องรัก เครื่องโลหะ เครื่องหนัง เครื่องกระดาษ และเครื่องเงิน และต้องดำรงกิจการ หรือประกอบการงานศิลปหัตถกรรมมาอย่างต่อเนื่อง
          นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า งานหัตถกรรม เป็นสิ่งที่บ่งบอกเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทย นับวันยิ่งจะสูญหายไปตามกาลเวลา ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จึงมีแนวคิดที่จะรักษางานหัตถกรรมของไทยให้คงอยู่ จึงได้จัดโครงการ “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตกรรม”ขึ้นและในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยทำการคัดเลือกช่างฝีมือรุ่นใหม่ๆ ที่มีใจรักและการพัฒนางานศิลปหัตถกรรม ภายใต้การผสมผสานงานหัตถกรรมรูปแบบดั้งเดิมพร้อมพัฒนาต่อยอดทางความคิด รูปแบบ ลวดลาย ให้มีความทันสมัย สามารถเพิ่มมูลค่า และขยายช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนช่วยอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เอกลักษณ์งานหัตถกรรมดั้งเดิมที่สืบทอดผลงานจากบรรพบุรุษให้คงอยู่สืบไป ศ.ศ.ป.ได้ทำการคัดเลือกทายาทช่างศิลปหัตถกรรมจำนวน 10ท่าน โดยพิจารณาผลงานใน 4 มิติ คือ 
          1. มิติด้านการอนุรักษ์และสืบสานงานหัตถศิลป์ไทย
          2. มิติด้านฝีมือ องค์ความรู้ และนวัตกรรมเชิงภูมิปัญญา
          3. มิติด้านสังคม (การเป็นที่ยอมรับด้านตัวบุคคล และ/หรือ ผลงาน)
          4. มิติด้านความร่วมสมัย
          พร้อมเผยแพร่จัดแสดงนิทรรศการผลงาน และสาธิตการทำงานหัตถกรรมของทายาทฯ ทั้ง 10 ท่าน ภายในงานเทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ ประจำปี 2558 (International Innovative Craft Fair 2015) ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
          ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบัน ได้พิจารณาคัดเลือก “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ทั้ง 10 ท่าน ดังนี้
          1. คุณจิตนภา โพนะทา อายุ 33 ปี ทายาทผู้สืบสานการทอผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์
          ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลโพนะทา คุณจิตนภาได้สืบทอดงานศิลปวัฒนธรรมด้านการทอผ้ามาจากครูช่างวรรณิภา โพนะทา ซึ่งเป็นครูช่างปี 2554 ผ้าไหมแพรวานั้น มีจุดเด่นในตัวชิ้นงานของแต่ละผืนอยู่แล้ว ซึ่งในการต่อยอดของทายาท คือการเพิ่มลวดลายให้มีความแตกต่างจากรูปเลขาคณิตในสมัยก่อน เพิ่มความโค้งมน และเพิ่มอรรถรสในการใช้งานให้มีมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้าพเจ้าได้ออกแบบลวดลายผ้าในลักษณะรูปดอกไม้ และประยุกต์แบบคั่นกลางระหว่างลายเพื่อทำให้ลูกค้าสามารถดัดแปลงการตัดเย็บเสื้อผ้าได้มากยิ่งขึ้น และได้ทอผ้าซิ่นแพรวา โดยนำลายแพรวาแบบดั้งเดิมที่ละเอียดมาเป็นเชิงผ้า โดยปกติหน้าแพรวาจะกว้าง 25-29 นิ้ว ซึ่งได้เพิ่มหน้าผ้าเป็น 1 เมตร การทอจะยากขึ้น แต่จะทำให้แพรวามีรูปแบบใหม่ และได้อนุรักษ์ลวดลายผ้าแบบดั้งเดิมไว้ แต่เพิ่มรูปแบบให้มีการใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น 
          2. คุณอรษา คำมณี อายุ 48 ปี ทายาทช่างทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมยกดอกแห่งเมืองลำพูน
          ทายาทได้สืบทอดการทอยกดอกของเมืองลำพูนมาจากของคุณสา คุณแสงคำซึ่งเป็นคุณยาย เป็นงานฝีมือที่มีน้อยคนจะทำได้ ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก สืบทอดมาเป็นรุ่นๆ ใช้ความอดทนพยายามสูง และต้องมีใจรัก การทอผ้า ให้ความสำคัญกับการทอผ้าทุกขั้นตอน และผลงานที่สร้างจุดเด่นให้ตัวทายาทคือ การทอผ้าไหมยกดอก เป็นงานที่ทำยากเพื่อเป็นการการันตีผลงานของทายาท ในปี 2546 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทผ้าไหมยกดอกเชิงหัวท้าย โดยใช้ชื่อว่า “ลายสุริยะฉาย” ปี 2553 รางวัลการคัดสรรค์โดยโครงการสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับห้าดาว ปี 2555 รางวัลรองชนะเลิศ ผ้าไหมเชิงเกาะ(ยกเล็ก) งานสีสันหริภุญชัย เทิดไท้ 80 พรรษา มหาราชินี
          3. คุณสุขจิต แดงใจ ทายาทช่างทอผ้าฝ้ายย้อมคราม สกลนคร
          ทายาทรุ่นที่ 3 ของการทอผ้าฝ้ายย้อมคราม สืบทอดมาจากคุณประไพพันธ์ แดงใจ เพื่อไม่ยอมให้ภูมิปัญญาที่ตกทอดมาตายไปจากโลกใหม่ จะทำให้มันคงอยู่ไปทุกสมัย โดยที่ไม่ใช่ตั้งโชว์นิ่ง ใช้งานไม่ได้เพราะนั้นหมายถึงตายแล้ว จะทำให้มันกลมกลืนไปกับทุกช่วงเวลาต่อจากนี้ไป โดยการเปลี่ยนฟอร์ม (reform) ของเก่าให้กลายเป็นของใหม่โดยที่คนยุคใหม่ไม่คาดคิดและคิดว่ามันเป็นโลกใหม่มากกว่ามาจากโลกเก่า ผลงานที่ภาคภูมิใจคือได้รับเชิญจัดแสดงแฟชั่นโชว์ INDIGO-The blue that binds ร่วมกับอีก 4 ประเทศ (สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) ภายในงาน George Town festival ที่เมืองจอร์จทาวน์ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย
          4. คุณคมกฤช บริบูรณ์ อายุ 45 ปี ทายาทช่างจักสานไม้ไผ่ แห่งพนัสนิคม
          ทายาทคุณปราณี บริบูรณ์ สืบสานรักษามรดกภูมิปัญญาจักสานไม้ไผ่และส่งเสริมการถ่ายทอดฝีมือ มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้ให้คงอยู่คู่กับชาวพนัสนิคม อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของงานหัตถศิลป์ และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอัน 1 ประเภทเครื่องจักสาน Innovative Craft Award 2012 และPM’s Awards 2005 (OTOP Export Recognition)
          5. คุณพัชร หนานพิวงศ์ อายุ 20 ปี ทายาทช่างจักสานกก จากนครพนม
          ทายาทรุ่นที่ 3 ในการสืบทอดการจักสานกกโดยได้สืบทอดมาจากครูเรืองยศ หนานพิวงศ์ ซึ่งได้รับการเชิดชูเป็นครูช่างปี 2557 ตัวทายาทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีลวดลายใหม่ๆจนติดตลาด ลูกค้ายอมรับ โดยทายาทได้ทำการแบบลวดลาย โทนสี ที่ทันสมัย มีความสามารถในการสานลายใหม่ตลอดเวลา พร้อมทั้งศึกษางานด้านบัญชี การตลาด ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปี 2549 ถึง 2557 ได้รับการคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์3 และ 4 ดาว ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชมชุน ปี2556 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ ขณะเรียนมัธยมปีที่ 6 และได้นำผลิตภัณฑ์ไปร่วมสาธิต โชว์ผลงาน ปี 2557 ได้รับรางวัลดีเยี่ยมระดับประเทศในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
          6. คุณณิฐ์ภาวรรณย์ แตงเอี่ยม อายุ 48 ปี ทายาทผู้สืบทอดเครื่องเบญจรงค์แห่งดอนไก่ดี
          ทายาทสืบทอดศิลปะการวาดลวดลายบนเบญจรงค์มาจากคุณป้าอุไร แตงเอี่ยม ครูช่างปี 2555 เพื่อรักษาและและพัฒนาเบญจรงค์สืบต่อไป โดยมีความคิดว่าต้องมีความพร้อมทุกด้านเพื่อรองรับอาเซียนไม่ว่าจะการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์และความรู้ด้านไอทีเพื่อรองรับการตลาดอย่างครบวงจร และพัฒนาให้ไปไกลกว่าผู้อื่นในเรื่องพัฒนาลวดลายเบญจรงค์ โดยมีแนวคิดคือการนำเอาทองที่มีคุณค่าน้ำทองคำแท้แท้มาลงลายเพื่อให้เกิดทองนูนและนำเอาศิลปะเบญจรงค์ลงไปด้วยได้ความผสมผสานกลมกลืน รางวัลการันตีผลงาน ได้แก่ รางวัลห้าดาว OTOP และรางวัลหัตถกรรมดีเด่น
          7. คุณนริสา เชยวัดเกาะ อายุ 31 ปี ทายาทช่างเครื่องทอง สกุลสุโขทัย
          สืบทอดการทำงานศิลปหัตถกรรมมาจากคุณสุภัจนาลัย เขาเหิน ครูช่างปี 2556 การสืบทอดงานศิลปะหัตกรรมไทย และมีการพัฒนาต่อยอดทักษะภูมิปัญญาจากเดิมที่เครื่องทองสุโขทัยจะมีเพียงการติดลายลงไปบนแผ่นทอง แล้วนำไปฉลุและลงยาเท่านั้น โดยได้มีการต่อยอดเพิ่มขึ้นโดยการเพิ่มมิติลงไปในชิ้นงานมากขึ้นด้วยการติดชิ้นงานเล็กๆ อาจเป็นรูปดอกไม้ หรือรูปสัตว์ชนิดต่างๆเพิ่มขึ้นมาต่างหากแยกจากชิ้นงานหลักเดิม แล้วนำดอกไม้เล็กๆเหล่านี้ไปติดลงบนแผ่นเงินที่มีการติดลายดั้งเดิมไว้แล้ว เพื่อเพิ่มมิติให้ดูทันสมัย ซับซ้อน และประณีตมากขึ้นโดยที่ยังสามารถคงไว้ซึ่งลวดลายดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ของงานทองสุโขทัยเช่นเดิมไว้ เริ่มกระบวนการผลิตที่ร้านทองนันทนาตั้งแต่ ปี 2549 
          ถึงปัจจุบันจนมีผลงานรางวัล ดังนี้ ปี 2553ได้รับรางวัล OTOP ระดับ 5 ดาว การออกแบบชุดหยาดพิกุล ปี 2555 ได้รับรางวัล OTOP ระดับ 5 ดาว ประสบการณ์ ทำงานในส่วนของการออกแบบการผลิต 
          8. คุณณัฐวุฒิ พลเหิม อายุ ปี ทายาทช่างเครื่องเงิน สกุลสุโขทัย (เครื่องเงิน)
          ทายาทสืบทอดงานเครื่องเงินมาจากคุณขวัญ พลเหิม ครูช่างปี 2557 ได้เห็นเห็นถึงคุณค่าของงานหัตถกรรมที่ได้รับสืบทอดภูมิปัญญามารุ่นสู่รุ่น จึงสืบทอดงานหัตถกรรมเครื่องเงินต่อจากพ่อกับแม่ งานเครื่องเงินสุโขทัยเป็นงานที่มีเสน่ห์และมีคุณค่าในตัวเองถึงจะเป็นงานที่ยากแต่ก็เป็นงานที่น่าเรียนรู้ ผมจึงให้ความสนใจที่จะสืบสาน พัฒนา และสืบทอด ปัจจุบันผมจึงทำผลงาน 3 รูปแบบหลักๆ คือ งานเครื่องเงินสุโขทัยดั้งเดิม งานเครื่องเงินสุโขทัยประยุกต์ และงานเครื่องเงินประยุกต์ ผลงาน ประสบการณ์ เกียรติบัตร หรือรางวัลที่เคยได้รับ เริ่มทำงานเป็นช่างเงินสุโขทัยตั้งแต่ ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ได้รับรางวัล OTOP ระดับ 4 ดาว การออกแบบชุดซองบุษบัน ปี 2555 ได้รับรางวัล OTOP ระดับ 5 ดาว การออกแบบชุดสังค์ศิลป์
          9. คุณประเสริฐ ยอดคำปัน อายุ 44 ปี ทายาทช่างทองโบราณ นนทบุรี
          สืบทอดทายาทช่างทองโบราณมาจากคุณนิพนธ์ ยอดคำปัน ครูช่างปี 2555 จากที่ได้เห็นครูนิพนธ์ได้สร้างสรรค์ผลงานทองโบราณรวมถึงงานวิจัยต่างๆ ทำให้มีแนวคิดที่จะช่วยอนุรักษ์รักษาและพัฒนา ซึ่งจุดเด่นของงานทองโบราณเทคนิคอยุธยา คือ สลับซับซ้อน พลิ้ว โปร่ง และเบา ทรงคุณค่า น่าค้นหา และหน้าสร้างสรรค์ ผลงานที่ทำให้ภูมิใจคือ เครื่องทอง ชุดที่เมย่า มิสเวิลด์ใส่ขึ้นประกวด ชื่องาน “อโยธยาศรีนคร”          
ศ.ศ.ป. คัดเลือก 10 “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ผู้สืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ร่วมจัดแสดงผลงาน และสาธิตการทำผลงาน
          10. คุณอังคาร อุปนันท์ อายุ 32 ปี ทายาทช่างเครื่องเงินบ้านกาด จังหวัดเชียงใหม่
          ทายาทคุณอัญชลี อุปนันท์ ครูช่างปี 2554 ซึ่งเป็นมารดา ของคุณอังคาร ด้วยความรักในงานหัตถกรรม จากรุ่นที่ 1 ผู้ซึ่งส่งเทคนิคการทำเครื่องประดับแบบโบราณมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการออกแบบและพัฒนาให้สอดคล้องกับการใช้งานใหม่ๆ ในปัจจุบัน การใช้วัสดุใหม่ๆ ในชิ้นงานเป็นการเพิ่มมูลค่าของชิ้นงานมูลค่าอย่างทองคำ อัญมณี มีประสบการณ์การทำงานเครื่องประดับแบบโบราณและงานร่วมสมัย กว่า 10,000 ชั่วโมง ยังเคยจัดแสดงงานร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปกร และจัดนิทรรศการ ART “Glass Sand & Husk, Arts & Science” 2011
          โดยทั้งทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ทั้ง 10 ท่าน จะได้รับโล่ห์ประกาศเกียรติคุณ “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2558 จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) และขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมชมผลงานและการสาธิตทำชิ้นงานของทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ทั้ง 10 ท่าน ภายในงานเทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ ประจำปี 2558 (International Innovative Craft Fair 2015) ระหว่างวันที่ 19-22 มีนาคม ณ ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
 

ข่าวศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ+เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรมวันนี้

ศ.ศ.ป. “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” คัด 11 ทายาทคนรุ่นใหม่ อนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาแห่งบรรพบุรุษ

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. (SACICT) ส่งเสริมการสืบสานงานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ คัด11 สุดยอดทายาทคนรุ่นใหม่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิม 9 สาขาจากทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ "เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" ประจำปี 2560 พร้อมนำผลงานเด่นมาจัดแสดงภายในงาน "เทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ 2560 (IICF 2017) จัดขึ้นระหว่าง 23-26 มีนาคมนี้ ณ ไบเทค (บางนา) นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. (SACICT) กล่าวว่า ศูนย์ส่ง

นางอัมพวัน พิชาลัย (ที่ 3 จากขวา) ผู้อำนว... ภาพข่าว: ศศป. คัดสุดยอด 11 ผู้สืบทอดงานหัตศิลป “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม”ประจำปี 2560 — นางอัมพวัน พิชาลัย (ที่ 3 จากขวา) ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลป...

ศ.ศ.ป. จัดประกวด “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” คัด 10 สุดยอดผลงานผู้สืบทอด อนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. จัดโครงการประกวด “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” เพื่อสืบสาน และอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมมรดกอันล้ำค่าของไทยให้คงอยู่สืบไป ด้วยการคัด...

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ... รมว. กระทรวงพาณิชย์ เปิดงานครบรอบ "SACICT ก้าวสู่ปีที่ 18" — นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานงานวันสถาป...

กระทรวงพาณิชย์ เตรียมดันไทยเป็นศูนย์กลางง... จุรินทร์เตรียมดันไทยเป็น Art & Crafts Hub ของอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ — กระทรวงพาณิชย์ เตรียมดันไทยเป็นศูนย์กลางงานศิลปหัตถกรรมไทยแห่งอาเซียน หนุนให...

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์ก... SACICT ก้าวสู่ปีที่ 18 สืบสาน รักษา และต่อยอดคุณค่าในงานศิลปาชีพและหัตถกรรมไทย — ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดกิจกรรม ...

SACICT เปิดรันเวย์โชว์ 50 ผลงาน รอบชิงชนะ... SACICT เปิดรันเวย์โชว์ 50 ผลงาน รอบชิงชนะเลิศ SACICT AWARD 2020 — SACICT เปิดรันเวย์โชว์ 50 ผลงาน รอบชิงชนะเลิศโครงการประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค...