วันนี้ (12 มีนาคม 2558) เวลา 16.00 น. นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ให้ความเห็นกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติด้วยเสียงไม่ถึงสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่อยู่ของสภา ให้ถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 38 คน ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. น้อมรับมติดังกล่าวโดยชี้ว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 65 บัญญัติให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอิสระในการออกเสียง
นายวิชัย กล่าวว่า แม้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติด้วยเสียงไม่ถึงสามในห้าให้ถอดถอน อดีตสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 38 คนออกจากตำแหน่ง แต่กระบวนการขอให้ถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 38 คน ออกจากตำแหน่ง ที่มีการดำเนินการมาแต่ต้น ก็เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตย คือ การยื่นคำร้องขอให้ ถอดถอนออกจากตำแหน่ง การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตลอดจนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถือเป็นการให้การเรียนรู้แก่ประชาชนที่จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของกลไกการถ่วงดุลและคานอำนาจเสียงข้างมากทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้
นายวิชัย กล่าวอีกว่า ประวัติศาสตร์การพัฒนาประชาธิปไตยตลอดแปดทศวรรษที่ผ่านมาแล้ว คนไทยเข้าใจประชาธิปไตยด้านเดียว คือ ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งหรือเสียงข้างมาก ส่วนการเหนี่ยวรั้ง เสียงข้างมากไม่ให้ใช้อำนาจบาตรใหญ่และการคุ้มครองเสียงข้างน้อยให้มีที่อยู่ที่ยืนพอสมควร ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตยเช่นกัน เกือบไม่ได้เข้าสู่การรับรู้ของคนไทย กระบวนการถอดถอน อย่างการขอให้ถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภาออกจากตำแหน่งกรณีนี้ จะให้การเรียนรู้แก่คนไทยในสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของประชาธิปไตย
ต่อคำถามว่าการสิ้นไปของรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลต่อการลงมติของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่ นายวิชัย กล่าวว่า กระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งตามกฎหมายปัจจุบันต้องแยกกันระหว่าง “เขตอำนาจพิจารณา” ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะวุฒิสภาอย่างหนึ่ง กับเนื้อหาของกรณีกล่าวหาว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญโดยจงใจหรือไม่อีกอย่างหนึ่ง
ข้อที่ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นผลไปแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงหรือไม่ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะวุฒิสภาจะมีอำนาจพิจารณาหรือไม่ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับกรณีขอให้ถอดถอนทำนองนี้ไว้พิจารณาหลายกรณีแล้ว ปัญหาเรื่องเขตอำนาจพิจารณาจึงไม่มีอีกแล้ว การออกเสียงของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าจะถอดถอนหรือไม่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องพิจารณาเพียงว่า อดีตสมาชิกวุฒิสภาที่ถูกกล่าวหากระทำผิดหรือไม่ โดยไม่ติดค้างอยู่กับเขตอำนาจพิจารณาซึ่งยุติไปแล้ว
นายวิชัย กล่าวอีกว่า มติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ยืนยันถึงเขตอำนาจพิจารณาของสภาดังกล่าวนี้ บัดนี้มีคำพิพากษาฎีกาสนับสนุน คือ ฎีกาที่ อม.30/2557 ระหว่าง อัยการสูงสุด ผู้ร้อง นางสาวนฤมล นนทะโชติ ผู้ถูกกล่าวหา เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีการดำรงอยู่เป็นอิสระจากกัน แม้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปแล้ว อัยการสูงสุดผู้ร้อง ก็ยังสามารถอาศัยบทบัญญัติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินได้ จากมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคำพิพากษาฎีกานี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะยกกรณีกล่าวหาทำนองนี้ที่ค้างอยู่มาดำเนินการต่อไป
สำนักงาน ป.ป.ช. สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในด้านกระบวนการยื่นคำร้อง ไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติ และให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อให้กระบวนการดำเนินการทางกฎหมายมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป โดยแสดงความเห็นได้ที่ https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MjQ0MkRHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ ภายในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ นายนิวัติ
ป.ป.ช. ประกาศเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้บริหารท้องถิ่น
—
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผ...