เกษตรฯ เผย มาตรการชดเชยรายได้เกษตรกรข้าว-ยาง ลุล่วง สศก.แจง ผลประเมินทั้ง 2 โครงการ

16 Mar 2015
กระทรวงเกษตรฯ โดย สศก. แจงผลประเมินมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท และโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เผย ส่วนใหญ่ได้รับการชดเชยแล้ว ระบุ ผู้ปลูกข้าวได้รับเฉลี่ย 13,860 บาท/ราย และเกษตรกรสวนยางได้รับเฉลี่ย 11,862 บาท/ราย

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท และโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยมอบหมายให้ สศก. ดำเนินการประเมินผลทั้ง 2 โครงการ พบว่ามาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาทสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2557/58 ระหว่างวันที่ 5 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 833 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 18 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า เกษตรกรเกือบทุกรายทราบว่ามีมาตรการ ส่วนใหญ่ทราบจาก เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้นำชุมชน และวิทยุ/โทรทัศน์ โดยเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการแล้วร้อยละ 95 และร้อยละ 5 ไม่ได้รับ เนื่องจากไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว

สำหรับการได้รับเงินชดเชย พบว่า เกษตรกร ร้อยละ 98 ได้รับเงินแล้ว ร้อยละ 2 ยังไม่ได้รับเงิน เนื่องจาก มีการแก้ไขเอกสาร เช่น มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองที่ดิน เกษตรกรเปลี่ยนนามสกุล เป็นต้น ซึ่งจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับเฉลี่ย 13,860 บาท/ราย (เป้าหมายไม่เกิน 15,000 บาท/ราย) โดยได้รับสูงสุด 15,000 บาท/ราย (จำนวนร้อยละ 67 ของผู้ได้รับ) และต่ำสุด 1,500 บาท/ราย (ร้อยละ 0.15)อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรร้อยละ 49 (ของผู้ได้รับเงิน) เก็บไว้ลงทุนทำนาในครั้งต่อไป ร้อยละ 38 ใช้เพื่ออุปโภค/บริโภค ร้อยละ 10 ชำระค่าปัจจัยการผลิตข้าวที่ค้างจ่าย ร้อยละ 8 ใช้หนี้ผู้ให้กู้ยืม และร้อยละ 4 ชำระหนี้ ธ.ก.ส.นอกจากนี้ มีเกษตรกรบางส่วนนำเงินไปใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ลงทุนทำการเกษตรประเภทอื่น และ เก็บออม เป็นต้น

ทั้งนี้ ความพึงพอใจของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรร้อยละ 55 พึงพอใจมาก ร้อยละ 36 พึงพอใจปานกลาง และร้อยละ 9 พึงพอใจน้อย เนื่องจากเงินที่ชดเชยมีจำนวนน้อยเกินไป ซึ่งต้องการให้จ่ายเงินชดเชยตามจำนวนพื้นที่ที่ทำนาทั้งหมด เป็นต้น ซึ่งเกษตรกร มีความคิดเห็นว่า เป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยตรง ควรดำเนินการต่อในปีต่อไป แต่มาตรการเกิดประโยชน์เฉพาะผู้ทำนาพื้นที่น้อย โดยอยากให้ควรเพิ่มพื้นที่ชดเชย เช่น ชดเชยพื้นที่ทำนาทั้งหมด หรือ ชดเชย 2 ใน 3 ของพื้นที่ทำนา หรือ ชดเชยขั้นต่ำ 30 ไร่ เป็นต้น และควรเพิ่มเงินชดเชย เป็น 2,000 – 3,000 บาทต่อไร่

โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยสัมภาษณ์เกษตรกรชาวสวนยาง ระหว่างวันที่ 6 – 12 กุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 385 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 42 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า เกษตรกรชาวสวนยางเกือบทุกรายทราบว่ามีมาตรการ ส่วนใหญ่ทราบจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิทยุ/โทรทัศน์ และผู้นำชุมชน ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการร้อยละ 90 แต่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ร้อยละ 10 เนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบตามกำหนด เช่น พื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และพื้นที่ยังไม่ได้เปิดกรีด เป็นต้น

สำหรับการได้รับเงินชดเชยนั้น พบว่า เกษตรกร ร้อยละ 78 ได้รับเงินแล้ว แต่ร้อยละ 22 ยังไม่ได้รับเงิน เนื่องจากเพิ่งยื่นเอกสาร หรืออยู่ในขั้นตอนการตรวจรับรองสิทธิ และรอการอนุมัติจ่ายเงิน เป็นต้น โดยเกษตรกรได้รับเงินชดเชยเฉลี่ย 11,862 บาท/ราย (เป้าหมายเงินชดเชยไม่เกิน 15,000 บาท/ราย) ได้รับสูงสุด 15,000 บาท/ราย (จำนวนร้อยละ 51 ของผู้ได้รับ) และต่ำสุด 1,750 บาท/ราย (ร้อยละ 0.37)

อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรร้อยละ 77 (ของผู้ได้รับ) นำเงินชดเชยไปใช้จ่ายแล้วเฉลี่ย 11,486 บาท/ราย คิดเป็นร้อยละ 97 ของจำนวนเฉลี่ยที่ได้รับ โดยเกษตรกรร้อยละ 23 ยังไม่นำเงินชดเชยไปใช้จ่ายเนื่องจากต้องการเก็บออม เก็บไว้ซื้อวัสดุอุปกรณ์การทำสวนยางเมื่อถึงเวลา เป็นต้น ทั้งนี้ เกษตรกรร้อยละ 64 (ของผู้ที่ใช้จ่ายแล้ว) จะใช้ซื้อปุ๋ย/วัสดุอุปกรณ์สวนยาง ร้อยละ 34 ซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภค ร้อยละ 10 ชำระหนี้สินค่าปัจจัยการผลิตการทำสวนยางที่ค้างจ่าย ร้อยละ 10 ชำระหนี้ ธ.ก.ส. และร้อยละ 9 ชำระหนี้เงินกู้ทั่วไป ซึ่งมีเกษตรกรบางส่วนนำไปใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ขุดสระน้ำ ซ่อมแซมบ้าน ทำบุญ ทำการเกษตรอื่นๆ เป็นต้น

ด้านความพึงพอใจของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรร้อยละ 23 พึงพอใจมาก ร้อยละ 54 พึงพอใจปานกลาง และร้อยละ 23 พึงพอใจน้อย เนื่องจากเงินชดเชยมีจำนวนน้อย และการจ่ายเงินล่าช้า โดยเกษตรกร เห็นว่า เป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยตรง ควรดำเนินการต่อในปีต่อไป ซึ่งเงินที่ได้รับช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ถึงแม้ว่าจำนวนเงินจะไม่มาก แต่ดีกว่ารัฐบาลไม่ช่วยเหลืออะไรเลย อีกทั้งเป็นมาตรการที่แก้ไขปัญหาระยะสั้น และเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ควรเพิ่มเงินชดเชย เป็น 2,000 – 3,000 บาทต่อไร่ เพิ่มพื้นที่ชดเชย เช่น ชดเชยพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด ชดเชยขั้นต่ำ 20 - 30 ไร่ เป็นต้น และควรมีมาตรการลดราคาปุ๋ย/วัสดุอุปกรณ์สวนยางให้ด้วย