นักวิชาการห่วงภัยพิบัติแผ่นดินไหว ระบุเป็นภัยพิบัติที่ทำลายล้างอย่างมหาศาล เสนอออกกฎกระทรวงเรื่องการสร้างตึกสูง

29 Apr 2015
นักวิชาการห่วงภัยพิบัติแผ่นดินไหว ระบุเป็นภัยพิบัติที่ทำลายล้างอย่างมหาศาล เสนอออกกฎกระทรวงเรื่องการสร้างตึกสูง เลขาธิการ สพฉ. ย้ำต้องสร้างองค์ความรู้รับมือภัยพิบัติ พร้อมแนะแนวทางป้องกันเหตุฉุกเฉิน

นักวิชาการห่วงภัยพิบัติแผ่นดินไหว ระบุเป็นภัยพิบัติที่ทำลายล้างอย่างมหาศาล เสนอออกกฎกระทรวงเรื่องการสร้างตึกสูง พร้อมวางระบบการเตือนภัย ด้านเลขาธิการ สพฉ. ย้ำต้องสร้างองค์ความรู้รับมือภัยพิบัติ พร้อมแนะแนวทางป้องกันเหตุฉุกเฉินจากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล แม้หลายฝ่ายจะออกมาระบุว่าไม่น่าจะมีอิทธิพลกับประเทศไทยนั้น เพราะระยะทางไกลมาก แต่ในทางวิชาการ ประเทศไทยก็ไม่ควรประมาท จึงควรเฝ้าสังเกตการณ์เรื่องความต่อเนื่องทางธรณีวิทยา เนื่องจากเทือกเขาหิมาลัยมีความต่อเนื่องมาถึงยอดดอยอินทนนท์

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ในการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ได้ออกมาย้ำเตือนว่าประเทศไทยควรมีแผนเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมในเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยจะต้องเร่งออกกฎกระทรวงเรื่องการสร้างตึกสูง หรือสิ่งปลูกสร้างที่มากกว่า 5 ชั้น ว่าต้องเป็นตึกที่รองรับระบบแผ่นดินไหว มิเช่นนั้นหากเกิดแผ่นดินไหวจริงจะทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก รวมถึงต้องพัฒนาสร้างระบบการเตือนภัยที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพด้วย นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน โดยต้องบรรจุเป็นหลักสูตรในการเรียนการสอนให้กับเด็กๆขณะที่ ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา กล่าวว่า แผ่นดินไหวถือเป็นภัยพิบัติที่ทำลายล้างอย่างมหาศาลและไม่เลือกฤดูกาลที่จะเกิด และถึงแม้จะป้องกันไม่ให้เกิดไม่ได้แต่เราสามารถป้องกันให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดได้ โดยสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมอันดับแรก คือ การให้ความรู้เรื่องความรุนแรงและการสูญเสีย ของภัยพิบัติแผ่นดินไหว โดยที่ผ่านมา ความรุนแรงของแผ่นดินไหวในระดับ 5-6 ริกเตอร์ จะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน และในระดับ7-8 ริกเตอร์ ตึกหนาเป็นเมตรหรือเสริมคอนกรีตก็สามารถพังลงมาได้อย่างง่ายดาย ส่วนแผ่นดินไหวในระดับ 9.1 ริกเตอร์ นั้นสามารถสร้างการสั่นสะเทือนได้รอบโลกมาก 7-8 รอบ

อย่างไรก็ตามประเทศไทยควรสร้างระบบการเตือนภัยล่วงหน้าให้เกิดขึ้นให้ได้ เหมือนที่ประเทศญี่ปุ่น ที่มีสถานีวัดระดับแผ่นดินไหวถึง 2,000 แห่ง ทั่วประเทศ จึงทำให้การเตือนภัยมีประสิทธิภาพและสามารถเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวอพยพได้ แต่ในประเทศไทยยังมีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเพียงแห่งเดียว

ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการรับมือเหตุภัยพิบัติคือต้องมีความรู้ความเข้าใจในการรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยแต่ละครอบครัวควรสร้างแผนฉุกเฉินในการรับมือ เตรียมพร้อมถุงยังชีพซึ่งประกอบด้วยเอกสารสำคัญ อาหาร หรือยารักษาโรค และควรนัดแนะสถานที่นัดพบที่มีความปลอดภัยเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือพลัดหลงกันด้วย

ส่วนการรับมือขณะเกิดแผ่นดินไหวนั้น หากยังอยู่ในบ้านหรืออาคารก่อนอื่นควรตั้งสติและให้หมอบลงกับพื้น และอยู่ให้ห่างจากหน้าต่าง กำแพง หรือบล็อกคอนกรีตและใช้หลักสามเหลี่ยมในการหาที่หลบภัยในอาคาร และหากขับรถอยู่ให้จอดรถชิดขอบทาง อย่าออกจากรถจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์ และเมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้วควรเร่งตรวจสอบดูสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส อย่าเปิดใช้จนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย ใช้โทรศัพท์มือถือเท่าที่จำเป็นเนื่องจากระบบสัญญาณอาจจะล่มได้ นอกจากนี้ควรเตรียมพร้อมกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดใหม่ด้วย เพราะการเกิดแผ่นดินไหวมักจะมีการเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมา