สมศ.การันตีการประเมินคุณภาพการศึกษา ช่วยยกระดับคุณภาพผู้เรียน

16 Apr 2015
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เน้นย้ำความสำคัญของการประเมินมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา ชี้วัตถุประสงค์หลักเพื่อให้สถาบันการศึกษาสามารถนำผลการประเมิน ไปใช้สำหรับวางแผนพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน และรายงานผลการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับเป็นข้อมูลให้พ่อแม่ผู้ปกครองมั่นใจว่า บุตรหลานของตนได้ศึกษาในสถาบันที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับสถาบันอื่นๆ ในประเทศไทย ในภาพรวมไม่เพียงช่วยลดความเหลื่อล้ำทางการศึกษาให้กับประชาชน แต่ยังเปรียบเสมือนเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าหรือการบริการที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลให้ประชากรของประเทศมีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า ระบบการประเมินมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา ถือเป็นหลักประกันสำคัญที่ช่วยการันตีคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน เพราะการประเมินคุณภาพการศึกษาจากหน่วยงานภายนอก ย่อมก่อให้เกิดระบบการตรวจสอบที่เป็นระบบและเชื่อถือได้ ช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้มีหลักประกันและความมั่นใจว่า โรงเรียนที่ส่งบุตรหลานเข้าไปเล่าเรียนนั้น มีมาตรฐานเทียบเท่ากับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งตามปกติแม้ว่าสถานศึกษาทุกแห่งจะต้องทำการประเมินตนเองเป็นประจำทุกปี และทางต้นสังกัดทำการประเมินซ้ำอีกครั้งทุกๆ 3 ปี แต่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และเป็นการยืนยันความถูกต้อง จึงต้องมีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกอีกครั้ง โดยมี สมศ. ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินและรับรองผลทุก 5 ปี เพื่อประกันคุณภาพการศึกษาให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และสรุปผลการประเมินเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติการประเมินการศึกษาจากหน่วยงานภายนอก ไม่เพียงช่วยลดความเหลื่อล้ำทางการศึกษาให้กับประชาชน แต่ในขณะเดียวกันหลักเกณฑ์การประเมินของ สมศ. ซึ่งมีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ

1.มุ่งเน้นให้สถานศึกษาที่ได้รับการประเมินพัฒนาคุณภาพอย่างเป็นระบบ

2.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพและการพัฒนาระบบจัดการศึกษาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

3.สร้างความสมดุลทางการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งในส่วนของสถานศึกษา ผู้สอน และผู้เรียน

4.ยึดถือความเที่ยงตรงและเป็นธรรมในการประเมินผล

5.ส่งเสริมและประสานงานอย่างเป็นมิตร ยังสามารถช่วยให้สถานศึกษาแต่ละแห่ง วางแผนพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เปรียบเสมือนการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าหรือการบริการที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลให้ประชากรของประเทศมีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ

“เมื่อเราซื้อสินค้าเรายังได้รับการประกันเป็นเครื่องการันตี หากสินค้าหรือบริการนั้นมีปัญหาก็ยังสามารถแลกเปลี่ยนหรือได้รับการชดเชยแก้ไขได้ ดังนั้นการศึกษาซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้อนาคตของเยาวชนไทย ก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือ การันตีว่าผู้เรียน จะได้เรียนในโรงเรียนที่ดีและมีคุณภาพเช่นเดียวกัน” ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าว

สอดคล้องกับ ดร.เชิดศักดิ์ ศุภโสภณ ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่กล่าวว่า การประกันคุณภาพภายนอกนั้นมีความสำคัญมาก เพราะเป็นเกณฑ์ชี้วัดให้ทุกโรงเรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของแต่ละโรงเรียน โดยโรงเรียนที่พร้อมกว่าก็จะคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำโรงเรียนอื่นๆ ให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จด้วยกัน เพื่อผลประโยชน์สูงสุดกับตัวของผู้เรียนเอง อย่างเช่นกรณีของโรงเรียนสวนกุหลาบที่มีการนำผลการประเมินมาเป็นแนวทางพัฒนาการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากโรงเรียนสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนใหญ่มีนักเรียนกว่า 3,626 คน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์การบริหาร และทิศทางการขับเคลื่อนโรงเรียนในแต่ละปี โดยกำหนดให้ครูในโรงเรียนทุกคน ทำประกันคุณภาพภายในควบคู่กับการประกันคุณภาพภายนอก ซึ่งในภาพรวมช่วยให้คุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด

ด้าน นายทวีศักดิ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้อำนวยการโรงเรียนสุเหร่าปากคลองลำรี จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า จริงๆ แล้วการประกันคุณภาพการศึกษาทำไม่ยาก แต่ส่วนใหญ่ครูผู้สอนยังไม่เข้าใจหลักการ ทำให้เมื่อ สมศ.เข้าไปประเมินคุณภาพเพื่อตรวจสอบและยืนยันผล สถานศึกษาจึงรู้สึกเป็นภาระและเกิดความเครียด ซึ่งต่างจากโรงเรียนสุเหร่าปากคลองลำรี ที่มีการจัดประชุมครูและผู้เกี่ยวข้องร่วมกันวิเคราะห์ผลประเมินของปีที่ผ่านมา และนำข้อบกพร่องมาปรับปรุงแก้ไข โดยกำหนดให้ครูทุกคนต้องเตรียมการสอน ต้องวางแผนให้ตรงตามหลักสูตร ควบคู่ไปกับทำประกันคุณภาพภายในเป็นรายกลุ่มสาระ มุ่งผล 3 เรื่อง คือ ความดี ความสุข และความรู้ จึงส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กนักเรียนดีขึ้นตามลำดับ

สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th