ฟิทช์: ธนาคารจากเอเชียได้ส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากธนาคารจากยุโรปและธนาคารสหรัฐฯ

07 Apr 2015
ฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่าธนาคารพาณิชย์ต่างชาติจะยังคงขยายกิจการอย่างต่อเนื่องในภาคอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ของไทย โดยการขยายตัวโดยส่วนใหญ่น่าจะมาจากธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติในประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากจากการที่ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิยูเอฟเจ (BTMU; A/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เข้าซื้อกิจการธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศ ในเดือนธันวาคม 2556 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2557 ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติในไทยมีส่วนแบ่งการตลาดในด้านสินเชื่อคิดเป็น 22.2% ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 12.5% ในปี 2552

สัดส่วนธนาคารพาณิชย์ต่างชาติที่ประกอบกิจการในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไป โดยธนาคารพาณิชย์ที่มาจากทวีปเอเชียมีจำนวนมากขึ้นในขณะที่ธนาคารที่มาจากทวีปยุโรปและสหัฐอเมริกามีจำนวนน้อยลง แนวโน้มดังกล่าวน่าจะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องซึ่งจะสอดคล้องกับปริมาณการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น นโยบายเปิดเสรีมากขึ้นซึ่งเป็นแผนของธนาคารแห่งประเทศไทย ดูเหมือนมีจุดประสงค์ส่งเสริมการเชื่อมโยงภายในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสสำหรับธนาคารพาณิชย์ในระดับภูมิภาคในการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

อันดับเครดิจของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติในประเทศไทย 6 แห่งที่ได้รับจัดอันดับโดยฟิทช์ พิจารณาจากการสนับสนุนจากธนาคารแม่ โดยฟิทช์มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) จากธนาคารแม่ในกรณีที่มีความจำเป็น ฟิทช์มองธนาคารทั้ง 6 แห่งว่าถือเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่ (strategically important) เนื่องจากธนาคารแม่เป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด การเชื่อมโยงในการบริหารงานและการดำเนินงานอย่างสอดคล้องกันกับกลุ่ม และการให้การช่วยเหลือแก่การธนาคารลูกในอดีต

ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติในไทยดังกล่าวมีอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวอยู่ในระหว่าง AA(tha)’ ถึง ‘AAA(tha)’ อันดับเครดิตดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นของภาคอุตสาหรรมธนาคารพาณิชย์ในระยะยาวนับตั้งแต่ปี 2540 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดเล็กหลายแห่งได้กลายเป็นธนาคารลูกของธนาคารต่างชาติทั้งในระดับสากลและระดับภูมิภาคที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินจากเดิมที่เป็นธนาคารที่การบริหารงานถูกควบคุมโดยสมาชิกในตระกูลของกลุ่มผู้ก่อตั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จากรายงานพิเศษเรื่อง "Thailand’s Foreign Banks: Peer Review – Asia banks Gain on European, US Counterparts in Thai Expansion Bid" ที่ www.fitchratings.com