“ราคาน้ำมันดิบผันผวน จับตาเศรษฐกิจของยูโรโซน หลังธนาคารกลางยุโรปไม่ยอมรับพันธบัตร รัฐบาลกรีซ”

12 Feb 2015
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ. ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล”แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9-13 ก.พ. 58)

ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวน โดยยังได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีตลาดยังต้องจับตาแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของกรีซหลังจากจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ นอกจากนี้ต้องติดตามการประท้วงโดยสหภาพแรงงานของโรงกลั่นน้ำมัน 9 แห่งในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการหยุดงานประท้วงของแรงงานโรงกลั่นน้ำมันทั่วประเทศที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 35 ปี และส่งผลกระทบต่อกำลังการกลั่นน้ำมันของสหรัฐถึงร้อยละ 10 ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลงส่งผลให้บริษัทน้ำมันหลายแห่งทั่วโลกเริ่มชะลอการลงทุนขุดเจาะและผลิตน้ำมันซึ่งอาจทำให้อุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดโลกลดลง ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

จับตาเศรษฐกิจของยูโรโซน ซึ่งกรีซกำลังเผชิญกับแรงกดดันอีกครั้ง หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยืนยันว่าจะไม่ยอมรับการใช้พันธบัตรรัฐบาลกรีซมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้เพื่อระดมทุนครั้งใหม่ เนื่องจากพันธบัตรของรัฐบาลกรีซอยู่ในระดับ “ขยะ” (junk) ซึ่งอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ECB โดยท่าทีล่าสุดของ ECB ได้สร้างความวิตกกังวลแก่นักลงทุนในความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยูโรโซน ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

ติดตามการประท้วงของสหภาพแรงงานของโรงกลั่นน้ำมัน 9 แห่งในสหรัฐฯ หลังการเจรจาด้านแรงงานระหว่างแกนนำสหภาพกับโรงกลั่นน้ำมันยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ส่งผลให้ยังไม่สามารถต่อสัญญาจ้างงานฉบับใหม่ โดยการประท้วงครั้งนี้ ถือเป็นการหยุดงานประท้วงของแรงงานโรงกลั่นน้ำมันทั่วประเทศครั้งแรก และใหญ่ที่สุดในรอบ 35 ปี ซึ่งกระทบต่อกำลังการกลั่นน้ำมันของสหรัฐถึงร้อยละ 10 และส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สูงขึ้น

ราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลงส่งผลให้บริษัทน้ำมันหลายแห่งทั่วโลก เริ่มชะลอการลงทุนขุดเจาะและผลิตน้ำมันลง โดยล่าสุดข้อมูลของ Baker Hughes เปิดเผยให้เห็นว่า แท่นขุดเจาะที่กำลังปฏิบัติการขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ณ วันที่ 30 ม.ค. 58 มีจำนวนลดลง 94 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า เหลือเพียง 1,223 แท่น ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วง ต.ค. 57 ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่อุปทานน้ำมันดิบของโลกจะปรับตัวลดลง นอกจากนี้ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ได้แก่ บีพี และ เชฟรอน รวมถึงบริษัทน้ำมันอื่นๆ เริ่มปรับลดงบประมาณการลงทุนในปีนี้ เพื่อรับมือกับภาวะราคาน้ำมันตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าจะมีการชะลอการลงทุนเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้อุปทานส่วนเกินของน้ำมันดิบลดลง และหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีก จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ จีดีพี Q4/14 ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-6 ก.พ. 58)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 50.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 56.57เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยได้รับแรงหนุนหลักมาจาก ตัวเลขหลุมขุดเจาะของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงมากกว่าคาด และการที่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างบีพีและเชฟรอนออกมาประกาศลดค่าใช้จ่ายการลงทุนด้านการผลิตน้ำมันลง อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดิบยังคงมีอุปทานที่ล้นตลาดอยู่ รวมถึงการที่สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) ได้เปิดเผยตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังกดดันราคาน้ำมันอยู่