เตือนน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตร สศก. ระบุ ปากตะคลอง ฉะเชิงเทรา พบเกินกว่ามาตรฐาน

18 Feb 2015
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 16 เผย พบปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ระบุ เจอความเค็ม 30.59 กรัม/ลิตร ณ ประตูระบายน้ำปากตะคลอง ที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยขณะนี้ทางจังหวัดได้สั่งการให้ปิดประตูระบายน้ำในคลองต่างๆ เพื่อป้องกันการรุกคืบของน้ำเค็มเข้าไปในพื้นที่การเกษตรแล้ว

นายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 16 ฉะเชิงเทรา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคมของทุกปี พื้นที่การเกษตรของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง โดยเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก ที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง จะประสบปัญหาการหนุนของน้ำทะเลทำให้เกิดการรุกตัวของน้ำเค็มขึ้นสูง เกษตรกรต้องเตรียมปรับตัววางแผนการผลิตรองรับการหนุนของน้ำทะเล โดยจากสถานการณ์การรุกตัวของน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตทางด้านเกษตรกรรมของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ซึ่งในการรุกตัวของน้ำเค็มได้ไหลผ่านจังหวัดฉะเชิงเทราในอำเภอบางปะกง บ้านโพธิ์ เมืองฉะเชิงเทรา คลองเขื่อน บางน้ำเปรี้ยว รวมระยะทางมากกว่า 140 กิโลเมตร และกำลังจะเข้าสู่เขตจังหวัดปราจีนบุรีที่อำเภอบ้านสร้าง

จากข้อมูล ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 พบว่า ค่าความเค็มในเขตพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีค่าความเค็มสูงสุดอยู่ที่ ประตูระบายน้ำปากตะคลอง ความเค็มประมาณ 30.59 กรัม/ลิตร และค่าความเค็มต่ำสุดอยู่ที่สะพานบางขนาก ความเค็มประมาณ 1.27 กรัม/ลิตร ซึ่งถือค่าความเค็มอยู่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่จะต้องมีความเค็มไม่เกินประมาณ 2.00 กรัม/ลิตร ที่เป็นมาตรฐานค่าความเค็มสำหรับการเกษตร เพราะหากถ้าความเค็มเกินกว่านี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตของพืช

นายบุญลาภ กล่าวต่อไปว่า จากการรุกตัวของน้ำเค็มดังกล่าว พบว่าใกล้เคียงกับสถานการณ์ของปี 2544 และปี 2555 ที่เคยมีค่าความเค็มสูง ทำให้สำนักงานชลประทานในเขตต้นน้ำต้องเพิ่มการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำแหล่งต่างๆ มาช่วยผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งทำให้สามารถชะลอการรุกตัวของน้ำเค็มได้ระดับหนึ่ง และทำให้เขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรียังมีค่าความเค็มไม่สูงนัก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการสั่งการให้ปิดประตูระบายน้ำในคลองต่างๆ เพื่อป้องกันการรุกคืบของน้ำเค็มเข้าไปในพื้นที่การเกษตรแล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรของทั้ง 2 จังหวัด ได้มีการประชุมและเฝ้าระวังพร้อมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่รับทราบสถานการณ์ และเตรียมตัวรองรับผลกระทบที่จะตามมา ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีการวางแผนป้องกัน ปรับเปลี่ยน และเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตที่จะได้รับผลกระทบจากการรุกตัวของน้ำเค็มดังกล่าว เพื่อเตรียมการและวางแผนการผลิตให้รองรับกับสถานการณ์การรุกคืบของน้ำเค็มในปัจจุบันเพิ่มเติม