ผู้ถือหน่วยเฮ บลจ.ไทยพาณิชย์มือทอง กองทริกเกอร์เข้าเป้าอีกแล้ว

02 Feb 2015
นายสมิทธ์ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ สามารถบริหารกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดบริษัทฯเตรียมจ่ายผลตอบแทนกองทุนทริกเกอร์หุ้นไทย 2 กองทุน คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ไทยแลนด์รีคอฟเวอรี่ 3x3 ฟันด์ 2 (SCB Thailand Recovery 3x3 Fund 2) ที่เข้าเกณฑ์ทริกเกอร์ครั้งที่ 1 ที่มูลค่าหน่วยลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 10.30 บาท เมื่อวันที่19 ม.ค. 58 และครั้งที่ 2 ที่มูลค่าหน่วยลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 10.60 บาท เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 58 ซึ่งห่างจากครั้งที่1 เพียงแค่ 1 อาทิตย์เท่านั้น โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินในวันที่ 3 ก.พ.นี้ และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ไทยแลนด์รีคอฟเวอรี่ 3x3 ฟันด์ (SCB Thailand Recovery 3x3 Fund) ที่เข้าเกณฑ์ทริกเกอร์ครั้งที่ 1 ที่มูลค่าหน่วยลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 10.30 บาท วันที่ 3 ก.ย. 57 และทริกเกอร์ครั้งที่ 2 ที่มูลค่าหน่วยลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 10.60 บาท เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 58 โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินในวันที่ 4 ก.พ.58

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ไทยแลนด์รีคอฟเวอรี่ 3x3 ฟันด์ ทั้ง 2 กองทุน มีนโยบายการบริหารกองเชิงรุก เพื่อสร้างโอกาส ทริกเกอร์ 3 ครั้งในระยะเวลา 9 เดือน เป็นกองทุนรวมผสมที่ไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน และมีกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภายในประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากความผ่อนคลายปัญหาการเมืองในประเทศ และความคาดหวังถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น ธุรกิจการเงิน การธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

นายสมิทธ์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มกองทุนไทยแลนด์รีคอฟเวอรี่ทั้ง 2 กองทุน ว่า ยังมีทิศทางที่ดี และมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ 9% ได้อย่างแน่นอน โดยบริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์การลงทุนในตราสารทุนไทยที่เน้นลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มที่เชื่อมโยงกับโครงการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายสนับสนุน Digital Economy และกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากต้นทุนการผลิตที่ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่ปรับตัวลดลง เช่นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มขนส่ง กลุ่ม ICT และกลุ่มธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะสินเชื่อ Nano-Finance เป็นต้น เนื่องจากราคาหุ้นกลุ่มดังกล่าวยังคงต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานและบริษัทยังมีความสามารถในการทำกำไรต่อเนื่องในระยะยาวอีกด้วย