เตือนเกษตรกร ระวังไรแดงระบาดในต้นมันฯ สศท.11 เผยพบ 2 อ. ในพื้นที่ จ. อุบลราชธานี ระบาดแล้ว

28 Jul 2015
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ระวังการระบาดของไรแดง ที่มักระบาดในฤดูแล้ง และจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบทำให้สูญเสียคลอโรฟิลล์ เผย พบพื้นที่ อ.น้ำยืน และ อ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี มีการระบาดแล้ว แนะ เกษตรกรเตรียมทำการป้องกัน และหมั่นสังเกตต้นมันสำปะหลังอย่างใกล้ชิด

นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ขอให้เกษตรกรระวังการระบาดของไรแดงในมันสำปะหลัง ซึ่งกำลังระบาดในเขตพื้นที่ อ.น้ำยืน อ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี โดยไรแดง เป็นศัตรูสำคัญอีกชนิดหนึ่งของมันสำปะหลังที่มักระบาดในฤดูแล้งหรือเมื่อฝนทิ้งช่วง และจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบสูญเสียคลอโรฟิลล์ หากระบาดรุนแรง จะเคลื่อนย้ายไปดูดกินบนยอดอ่อนสร้างเส้นใย ปลูกคลุมใบและลำต้น ทำให้ผิวใบด้านบน เป็นจุดด่าง สีเหลืองชีด ยอดไหม้ ใบเหี่ยวแห้ง และร่วง หากเกษตรกรพ่นสารป้องกันกำจัดได้ทัน ก็จะสามาถยับยั้งการระบาดได้ดังนั้นในช่วงนี้ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง มั่นตรวจตราดูแลแปลง มันสำปะหลังของตนเองเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ อ.น้ำยืน และอ.น้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลัง โดยมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว ประมาณ 120,818 ไร่ และมีผลผลิตเฉลี่ย 563,366 ตัน โดยในสภาพธรรมชาติ แปลงมันสำปะหลังจะมีศัตรูธรรมชาติที่คอยทำลายแมลงศัตรูอยู่มาก แต่ระยะที่ผ่านมาเริ่มมีการใช้สารเคมีในแปลงมันสำปะหลังมากขึ้น ทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกทำลาย ชึ่งจะส่งผลทำให้ผลผลิตเสียหายจึงมีการระบาดของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้ง ไรแดง และแมลงหวี่ขาวที่รุนแรงมากขึ้น โดยกรณีที่ไรแดงระบาดรุ่นแรง กลุ่มกีฎวิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาอารักขาพืชผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำให้แก้ไขเบื้องต้นด้วยการฉีดพ่นสารเคมี ดังนี้

1. ไพริดาเบน (Pyridaben) 20% ดับบลิวพี อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

2. เพนบูตาติน ออกไชด์ (Fenbutatin Oxide) 55 % เอสชี อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

3. เตตราไดฟอน(Tetradifon) 7.25 % อีชี อัตรา 50ซีซี /น้ำ 20 ลิตร

อย่างไรก็ตาม การใช้สารฆ่าไร ไม่ควรพ่นชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง ควรสลับชนิดสารเพื่อป้องกันการต้านทานต่อสาร และเพื่อรักษาผลผลิตของท่าน ถ้าพบให้ทำลายทิ้งเสีย หากปล่อยให้ระบาดทั่วทั้งแปลงโดยไม่หมั่นตรวจตราเป็นพิเศษ ผลผลิตจะได้รับความเสียหาย 100% จึงขอเตือนเกษตรกรให้เตรียมทำการป้องกันและหมั่นสังเกตต้นมันสำปะหลัง หากสงสัย สามารถขอรายละเอียดและคำแนะนำเพิ่มเติมเบื้องต้นได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาอารักขาพืชผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี โทร. 045 344 653-4 ในวันและเวลาราชการ