Pattaya AEC โครงการพัฒนาศักยภาพเมืองพัทยาให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศทางประชาคมอาเซียน

02 Sep 2015
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมเปิดโลกอาเซียน (Pattaya Asean Day) "โครงการพัฒนาศักยภาพเมืองพัทยาให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศทางประชาคมอาเซียน" พร้อมด้วยผู้แทนกลุ่มประเทศอาเชียน สมาชิกเมืองพัทยา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สำนักงานพัทยา) หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชุนในเขตเมืองพัทยาและสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธีเปิด ณ ห้องฟิเดล่า แกรนด์บอลลูน โรงแรมเดอะซายน์ เนื่องในโอกาสของการก้าวเข้าสู่การรวมตัวกันเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ในปลายปี 2558 นี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันสูง อันส่งผลให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับตัวเองเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงการรวมกลุ่มการค้ากันของประเทศต่างๆ อาทิ สหภาพยุโรป และเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบ ให้จัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียนภายในปี 2558 มีประสงค์ที่จะให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่น ได้
Pattaya AEC โครงการพัฒนาศักยภาพเมืองพัทยาให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศทางประชาคมอาเซียน

การวางรากฐานให้กับระบบเศรษฐกิจและการลงทุนของพัทยาให้มีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง เราจำเป็นต้องวางแผนพัฒนาเมืองให้มีการเจริญเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth City) เริ่มต้นตั้งแต่การวางผังเมืองและนำระบบผังเมืองรูปแบบใหม่มาใช้ การพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน (Mixed – use Development) เพื่อให้มีการวางแผน ออกแบบให้มีการใช้ที่ดินและจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคอย่างเกิดประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการออกแบบสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (LEED Design & Environment Friendly) บริหารจัดการเมืองแบบชาญฉลาด (Smart City) ให้ความสำคัญการจัดการสิ่งแวดล้อม ขยะ น้ำเสีย และการจัดการนำน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ นโยบายประหยัดพลังงานและบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Smart Grid รวมไปถึงการดูแลความปลอดภัย การอำนวยความสะดวก การบริการข้อมูลและให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ผ่านสื่อและช่องทางการสื่อสารดิจิตอล 7 ภาษา และ Call Center 1337 พร้อมหน่วยปฏิบัติการ สายตรวจ เคลื่อนที่เร็ว ประจำการภาคสนาม ครบครันด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัย ที่สามารถเข้าถึงปัญหาและจัดการเหตุได้อย่างทันท่วงที

โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคหลักๆ ที่จะได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน ได้แก่การจัดการการจราจรและขนส่งภายในเมืองรองรับการเชื่อมต่อการขนส่งจากสนามบินพัทยา – อู่ตะเภา ที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นสนามบินพาณิชย์ เชื่อมต่อทางด่วนระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยาย (พัทยา – มาบตาพุด) เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อมต่อศูนย์กลางการขนส่งทางบกและทางน้ำ เพื่อรองรับเส้นทางเดินเรือระหว่างพัทยา – ชะอำ – หัวหิน เป็นต้น ได้แก่ การจัดทำแผนแม่บทการจราจรและขนส่งเมืองพัทยา การศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งสาธารณะ การก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางแยกบริเวณถนนสุขุมวิท การปรับป้ายจราจรรองรับอาเซียน การศึกษาเส้นทางการเดินรถเชื่อมโยงการท่องเที่ยว (Shuttle Bus) ส่วนในด้านการพัฒนาพื้นที่กิจกรรมและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดพัทยาไปแล้วและอยู่ในระหว่างการเริ่มปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาพื้นที่กิจกรรมบริเวณชายหาดจอมเทียน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาและป้องกันการกัดเซาะชายหาด ให้ได้พื้นที่กิจกรรมสันทนาการบริเวณชายหาดกลับคืนมา การวางแผนป้องกันและแก้ปัญหาเส้นทางน้ำหลากด้วยระบบอุโมงค์ระบายน้ำ รวมถึงการจัดการสายไฟฟ้าและสายสื่อสารต่างๆ ก็จะได้มีการดำเนินการตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วน ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาเมืองพัทยา 10 ปี (2559-2568) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองพัทยา 5 ปี (2559-2563) และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองพัทยา 3 ปี (2559-2561) ด้วยการบริหารจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ

"ทั้งหมดเป็นภาพรวมยุทธศาสตร์และแผนการขับเคลื่อนเพื่อพลิกโฉมและนำเมืองพัทยาข้ามเส้นขอบฟ้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างภาคภูมิใจและโดดเด่นในสายตาประชาคมอาเซียน หรือที่เราเรียกว่า ปฏิบัติการ "PATTAYA NEW HORIZON" สู่การยกระดับเมืองมหานคร (Mega City) และเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษการท่องเที่ยวและธุรกิจของประเทศต่อไป