ภาครัฐ เอกชน ผนึกกำลังผลักดันหนุนไทยเป็น Bio Hub

26 Aug 2015
สถาบันปิโตรเลียมร่วมกับศศินทร์จัดทำ “โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนา Bio Hub ในประเทศไทย” ออกแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาว มุ่งหวังไทยสู่พัฒนา New Wave Industry ครบวงจรระดับโลก สภาพัฒน์ฯ และ สภาอุตสาหกรรมฯ เห็นความสำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตร พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเองในประเทศ และยกระดับรายได้ของประเทศเพื่อความยั่งยืนในอนาคต

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลการศึกษาโครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนา Bio Hub ในประเทศไทยร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ สรุปได้ 4 ยุทธศาสตร์หลักที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในระดับโลก (Bio Hub) ภายใน 20 ปี โดยเสนอให้จัดตั้งศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ ผลิตเชื้อเพลิง เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันและอยู่ในแหล่งวัตถุดิบ พร้อมทั้งสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภครองรับหน่วยผลิตต่อเนื่องที่จำเป็นที่เชื่อมโยงอย่างบูรณาการ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการผลิตสูงสุด อีกทั้งยังสามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพและน้ำรีไซเคิลนำไปใช้ในภาคการเกษตรรวมถึงเป็นพลังงานทดแทนได้อีกด้วย โดยการพัฒนาจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ปี 2561-2568) ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ผลิตเชื้อเพลิง เคมี และพลาสติกชีวภาพ ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ 1.2 แสนล้านบาท/ปี และระยะที่ 2 (ปี 2569-2578) จะใช้มันสำปะหลังและชีวมวลต่างๆที่มีศักยภาพในอนาคตมาเป็นวัตถุดิบเสริมเพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบ

นายชัยพงษ์ พงษ์พานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านวัตถุดิบจากสินค้าเกษตร โดยในปัจจุบันส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิล และส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง เป็นอันดับที่ 1 ของโลก อีกทั้งยังมีฐานการผลิตสินค้าชีวภาพอยู่บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรดชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ เป็นต้นไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะผลักดันประเทศไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในระดับโลกได้ การนำสินค้าเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร สร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างงานใหม่และเพิ่มความมั่นคงทางแรงงาน หากสามารถผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นในประเทศได้ จะทำให้มีการลงทุนในประเทศกว่า 1 แสนล้านบาท สำหรับการลงทุนในระยะที่ 1 และก่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย แต่ยังมีข้อจำกัดคือประเทศไทยไม่ใช่ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ดังนั้นนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ เพื่อดึงดูดผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีชีวภาพ ให้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าภาคเอกชนเห็นความสำคัญที่จะต้องเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Bio Hub และสนับสนุนให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากประเทศมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ อีกทั้งตรงกับนโยบายของประเทศในการพัฒนาตลาดในประเทศและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตามการจะพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Bio Hub ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันและอยู่ในแหล่งวัตถุดิบแม้จะมีความเหมาะสม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการลงทุนสูง เนื่องจากเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูงและผูกขาดโดยเจ้าของเทคโนโลยี อีกทั้งประเทศไทยเองยังต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จึงต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐในระยะเริ่มต้นในหลายๆด้าน นอกจากนี้ ในด้านตลาดสินค้าชีวภาพนั้นก็มีความสำคัญ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าชีวภาพมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป จึงทำให้ความต้องการใช้สินค้าชีวภาพยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคและการสร้างตลาดสำหรับสินค้าชีวภาพ จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในระดับโลก

นายธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมชีวภาพถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมใหม่ (New Wave Industry) ที่ใช้สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในประเทศมาสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตเป็นสินค้าชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสและแนวโน้มการผลิตสินค้าของโลก ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเริ่มต้นของอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศไทยจะช่วยวางรากฐานของธุรกิจสินค้าชีวภาพและก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ตามมา ซึ่งถือเป็นโอกาสก้าวสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ต่อยอดการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมโดยนักวิจัยไทย

จะเห็นได้ว่า Bio Hub จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศ นำมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนการส่งออก ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สร้างรายได้ใหม่ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างงานใหม่และเพิ่มความมั่นคงทางแรงงาน ดังนั้นควรนำเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติเป็นกลไกบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่ชัดเจนและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติประเทศไทยก็จะสามารถผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นได้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในด้านคุณภาพชีวิตและการกินดีอยู่ดีของประชาชน ที่สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนประเทศให้เจริญเติบโตอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน