เชิดชูเกียรติ 10 ปูชนียบุคคล”ครูศิลป์ ช่างรัก” โครงการครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2558 ในงาน “นวัตศิลป์ไทย เทิดไท้องค์ราชินี”

19 Aug 2015
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ 10 ศิลปินดีเด่น งานสาขา”เครื่องรัก” ขึ้น ในงาน “นวัตศิลป์ไทย เทิดไท้องค์ราชินี” โครงการเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2558

นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เปิดเผยว่า ในปีนี้ทางศศป.ได้จัดโครงการเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2558 เพื่อทำการยกย่องเชิดชูเกียรติงานสาขาเครื่องรักขึ้น เพื่อร่วมอนุรักษ์สืบสานและเก็บรวบรวมองค์ความรู้เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงคุณค่าของงานช่างแขนงนี้ให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไปตราบนานเท่านาน โดยคณะทำงานได้จัดทำรายชื่อพร้อมประวัติและผลงานของครูช่างศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในประเภทสาขา “เครื่องรัก” ซึ่งในปีนี้ต้องการสะท้อนถึงความเป็นไทย จึงได้เชิญครูช่างรัก ของไทยมาร่วมสร้างสรรผลงานร่วมกับช่างรักจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน อาทิ บรูไน เวียตนาม เมียนมา เป็นต้น และเป็นการแสดงให้เห็นเอกลักษณ์ และการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมของไทยให้ยั่งยืนต่อไปทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอให้กับคณะกรรมการคัดสรรรอบแรกจำนวนทั้งสิ้น 31 รายชื่อ และทำการคัดสรรเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อคัดเลือกในรอบสุดท้าย จนได้ครูศิลป์ของแผ่นดินจำนวน 10 ท่าน ดังนี้ ได้แก่ 1.นายมานพ วงศ์น้อย 2.นายม้วน รัตนาภรณ์ 3.นางสาวปัญชลี เดชคง 4.นางดวงกมล ใจคำปัน 5.นายเสถียร ณ วงศ์รักษ์ 6. นางบุญศรี เกิดทรง 7. ม.ล.พงษ์สวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ 8. นางศศิธร มงคลเรืองฤทธิ์ 9. นางประเทือง สมศักดิ์ และ10. นายญาณ สองเมืองแก่น โดยประวัติและผลงานของครูศิลป์ของแผ่นดินในสาขาเครื่องรักทั้ง 10 ท่านนี้ ได้ถูกนำเสนอในรูปแบบของหนังสือและวิดิทัศน์เพื่อเพื่อเผยแพร่การทำงานและยกย่องเกียรติคุณในการทำงานอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรม พร้อมกับมีการจัดนิทรรศการเทิดทูนครู และเข้ารับโล่เชิดชูเกียรติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2558 ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศที่ผ่านมาภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรม เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและประเพณีของชาติ การสืบสาน ถ่ายทอดความรู้ความชำนาญ เทคนิค และกระบวนการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมต่างๆ จำเป็นต้องมีปัจจัยสำคัญที่ช่วยถ่ายทอดความรู้เหล่านั้น ครูช่างนับได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยสืบสาน ถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ความชำนาญทางฝีมือจากรุ่นสู่รุ่น การยกย่องเชิดชูเกียรติผู้สืบทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้เป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” จึงเป็นเสมือนการรววบรวมชีวประวัติ ผลงานและเกียรติคุณช่างที่มีความชำนาญในงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย ในสาขาต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ ภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจของครูช่างให้กับผู้สนใจในงานศิลปหัตถกรรม เยาวชน และสาธารณชนได้รู้จักอย่างกว้างขวางและเพื่อรักษาข้อมูลครูช่างไว้เป็นมรดกของชาติและถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป

งานเครื่องรัก เป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมประเภทหนึ่งของไทยซึ่งต้องอาศัย “ยางรัก” เป็นวัตถุดิบปัจจัยสำคัญสำหรับประกอบการสร้างสรรค์งานแต่ละประเภท ด้วยการตกแต่งในรูปลักษณ์และองค์ประกอบของงานแต่ละชนิดเป็นไปในลักษณะประณีตศิลป์ มัณฑนศิลป์และวิจิตรศิลป์ งานเครื่องรักดังกล่าวได้แก่ งานปิดทองทึบ งานปิดทองล่องชาด งานปิดทองล่องกระจกงานปิดทองลายฉลุ งานปิดทองลารดน้ำ งานปิดทองเขียนสีลายกำมะลอ งานเครื่องเขิน งานประดับกระจก และงานประดับมุกแกมเบื้อ เป็นต้น ผลงานช่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ประจำชาติที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความประณีตบรรจงภายใต้ขนบธรรมเนียมและประเพณีอันแฝงไว้ด้วยแนวคิดและบ่งบอกถึง ภูมิปัญญาของคนไทยที่ได้รับการสั่งสมและสืบทอดกันลงมานานนับหลายร้อยปี กล่าวได้ว่างานเครื่องรักของไทย ถือเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมที่มีแบบแผน ขนบ จารีตซึ่งเป็นการแสดงออกของงานศิลปกรรมของชาติไทยอย่างดียิ่ง ประกอบกับยุคสังคมไทยในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย งานช่างฝีมือดั้งเดิมหลายแขนงเริ่มสูญหายไปขาดคนสืบทอด นายช่างผู้มีความรู้ความชำนาญมีอายุมากขึ้น การสืบทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาลดน้อยลง จึงเป็นที่น่าเสียดายหากงานช่างแขนงนี้จะต้องเสี่ยงต่อการสูญหาย ดังนั้นโครงการเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี2558 จึงได้ทำการยกย่องเชิดชูเกียรติงานสาขา “เครื่องรัก” ขึ้น เพื่อร่วมอนุรักษ์ สืบสาน และเก็บรวบรวมองค์ความรู้เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงคุณค่าของงานช่างแขนงนี้ให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไปตราบนานเท่านานทั้งนี้คุณสมบัติเบื้องต้น ของครูศิลป์ของแผ่นดิน ประกอบไปด้วย ข้อกำหนด 5 ข้อ ด้วยกัน ได้แก่ 1.เป็นผู้มีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี สัญชาติไทย และยังมีชีวิตอยู่ 2. เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องและได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานที่โดดเด่นในงานประเภทนั้น ๆ 3. เป็นผู้สืบทอด สร้างสรรค์และพัฒนางานในประเภทงานนั้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 4. เป็นผู้อบรม สั่งสอน ถ่ายทอดความรู้ในประเภทงานนั้นๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ และ 5. เป็นผู้ที่ไม่กระทำ และมีความประพฤติอันเสื่อมเสียในสังคม ชุมชน และวงการงานศิลปหัตถกรรม