แพทย์เตือน กินอาหารรสเค็ม เสี่ยงความดันโลหิตสูง

18 May 2015
แพทย์เตือนการกินอาหารรสเค็มจัด กินผักผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีภาวะเครียด และอายุที่เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความดันโลหิตสูง
แพทย์เตือน กินอาหารรสเค็ม เสี่ยงความดันโลหิตสูง

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า การกินอาหารรสเค็มจัด กินผักผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีภาวะเครียด และอายุที่เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีระดับความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยมีสัญญาณอาการเตือน เช่น ปวดมึนที่บริเวณท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุบตุบ หากเป็นมานานหรือระดับความดันสูงมากๆ จะมีเลือดกำเดาไหล ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน มือสั่น หรือมือเท้าชา เมื่อปล่อยนานไปโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา แรงดันในหลอดเลือดที่สูง จะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก/ตีบโรคเบาหวาน และมีแนวโน้มของการเพิ่มการเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย ตามมาได้

นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคของการควบคุมความดันโลหิตคือ ประชาชนไม่รู้ว่าความดันโลหิตของตัวเองมีระดับสูงกว่าค่าปกติ จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ ปีพ.ศ. 2553 โดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างอายุตั้งแต่ 15 – 74 ปี ของกรมควบคุมโรค พบว่า 1 ใน 5 ของประชากรอายุ 35 – 74 ปี ไม่ได้รับการตรวจความดันโลหิตจากแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลกจึงได้มีการกำหนดวันความดันโลหิตสูงโลก เป็น วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี โดยมีคำขวัญเพื่อการรณรงค์ว่า “ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่” “Know Your Blood Pressure”เพื่อสร้างความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูง

ทั้งนี่ การปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงโรคความดันโลหิตสูง คือ การกินอาหารที่มีเกลือโซเดียมให้ลดลง หรือน้อยที่สุด เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสหวานน้อย มีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จำกัดการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม หรือไม่ดื่ม งดสูบบุหรี่รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ ประชาชนควรตรวจวัดความดันโลหิตของตนเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และต้องรู้ค่าความดันโลหิต ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สำคัญเพื่อที่จะรู้ภาวะตนเอง และการปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเพื่อป้องกันควบคุมโรคความดันโลหิตสูง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงสามารถสอบถามได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย.