สศก.7 ร่วมผลักดันนโยบายโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ จ.ชัยนาท

18 May 2015
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ร่วมบูรณาการโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรแปลงใหญ่จังหวัดชัยนาท ชู 3 จุดพื้นที่คัดเลือก คือ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านวัดพระแก้ว ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหางแขยง และกลุ่มเกษตรกร ต.หนองแซง หวังเกิดการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง สู่การสามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ

นางอัญชนา ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศก.7) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มและรวมพื้นที่การผลิตเป็นแปลงใหญ่ ประมาณ 5,000 ไร่ เพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงข้อมูลแหล่งเงินทุน ทรัพยากรและการตลาด มีอำนาจต่อรองในการหาปัจจัยการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตนั้น

ในการนี้ จังหวัดชัยนาท ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด เพื่อร่วมบูรณาการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมและ มีศักยภาพ กลุ่มเกษตรกรร่วมมือกันผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งมีเกษตรอำเภอทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการ ดูแลตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาคัดเลือก 3 จุด ได้แก่

จุดที่ 1 ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านวัดพระแก้ว ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี พื้นที่ 5,000 ไร่ ได้รับงบประมาณจากกรมการข้าว 1,787,000 บาท สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวปทุมธานี 1 โดยใช้เครื่องโรยเมล็ดพันธุ์แทนการหว่าน ซึ่งจะใช้เมล็ดพันธุ์เพียงไร่ละไม่ถึง 10 กก. ในขณะที่นาหว่านจะใช้เมล็ดพันธุ์ 10 – 20 กก./ไร่ เพื่อไม่ให้ต้นข้าวแน่นเกินไป การดูแลโรคแมลงง่าย มีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ รวมทั้งใช้สมุนไพรไล่แมลงแทนสารเคมี โดยเริ่มดำเนินการในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 หลังจากได้รับน้ำชลประทาน

จุดที่ 2 ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหางแขยง ต.หางน้ำสาคร อ.มโนรมย์ พื้นที่ 5,200 ไร่ ขอรับงบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 71,142,100 บาท สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวปทุมธานี 1 เช่นเดียวกัน

จุดที่ 3 กลุ่มเกษตรกร ต.หนองแซง อ.หันคา พื้นที่ 13,300 ไร่ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 63,682,600 บาท โดยการส่งเสริมการปลูกข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ชีวภาพ และการเลี้ยงโคเนื้อ สุกร

ทั้งนี้ คาดว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง พร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในการผลิตข้าว และเปลี่ยนมาใช้เมล็ดข้าวพันธุ์ดี เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ตลอดจนสามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย สศก.7 จะได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานให้ทราบเป็นต่อไป