ฝึกทักษะอาชีพเยาวชน “ประกอบอาหาร” และ “ฝีมือช่าง” สร้างรายได้เสริมระหว่างเรียน ที่ โรงเรียนบ้านบุ่งมะแลง

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          “การปรุงอาหาร” และ “ทำขนม” นับเป็นเรื่องไม่ยากที่จะสร้างเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมให้กับคนไทยได้จำนวนมาก หากมีการส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมืออย่างต่อเนื่องก็มีโอกาสที่จะเป็นทางเลือกให้กลายเป็นวิชาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต
          โรงเรียนบ้านบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน บางคนไม่มีเงินมาเรียนหนังสือ เมื่อพักกลางวันจึงต้องกลับไปรับประทานอาหารที่บ้าน ปัญหาที่ตามมาคือ นักเรียนส่วนหนึ่งไม่เข้าเรียนภาคบ่ายหนีไปมั่วสุมในที่ต่างๆ
          อีกทั้งร้านอาหารที่มีเพียงร้านเดียว ก็ทำอาหารไม่หลากหลายตามหลักโภชนาการ ปัญหาดังกล่าวทำให้ทางโรงเรียนเกิดความคิดที่จะแก้ไขด้วยการจัดทำ “โครงการฝึกทักษะชีวิตและอาชีพเสริมรายได้ระหว่างเรียน” ขึ้น ภายใต้โครงการ “นวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้นักเรียนได้อิ่มท้อง และรับประทานอาหารที่มีคุณค่า ขณะเดียวกันยังเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักประกอบอาชีพในอนาคตได้อีกด้วย
          นางอังศุมาลิน ขันเงิน รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุ่งมะแลง กล่าวว่า “ครอบครัวเด็กนักเรียนในชุมชนแห่งนี้ล้วนเป็นนเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ปัญหาของเด็กๆ นอกจากไม่ได้รับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการแล้ว พวกเขายังไม่มีแต้มต่อที่จะเรียนต่อในสายวิชาการ ทั้งยังต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงในตลาดแรงงาน โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือกในการดำเนินชีวิต ด้วยการฝึกทักษะอาชีพการประกอบอาหารที่สามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด”
          นางเพ็ญศรี ภิญโญ ครูผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า กระบวนการต่างๆ ภายใต้โครงการนี้นักเรียนไม่เพียงแต่จะต้องฝึกทักษะอาชีพให้ได้แล้ว ยังจะต้องเรียนรู้ในเรื่องของการค้าขาย และฝึกการทำบัญชี เพราะมีเป้าหมายคือต้องการให้นักเรียนที่เรียนจบไปแล้วมีวิชาชีพติดตัว ที่พวกเขาจะสามารถนำไปประกอบอาชีพหรือเป็นความรู้พื้นฐานในการนำไปศึกษาต่อในสายอาชีวะ
          โดยการฝึกทักษะอาชีพนั้นจะมีการแบ่งความยากง่ายไปตามชั้นเรียน โดยเริ่มจาก มัธยมศึกษาปีที่ 1 จะเรียนรู้เรื่องการทำเครื่องดื่มชนิดต่างๆ รวมไปถึงน้ำผลไม้ปั่นตามฤดูกาล มัธยมศึกษาปีที่ 2 จะเป็นเรื่องอาหารว่างและขนมต่างๆ อาทิ ลูกชิ้น,ฮอตดอกทอด, ขนมรังผึ้ง ขนมโดนัท ขนมเวเฟอร์ และ มัธยมศึกษาปีที่ 3 จะได้เรียนการทำอาหารจานเดียว โดยมีเมนูที่นิยมคือ ข้าวผัดกระเพรา, ข้าวมันไก่, ข้าวขาหมู, ข้าวราดผัดพริกแกง, ขนมจีนน้ำยา, ข้าวหมูแดง, ราดหน้า, ผัดไทย, ผัดฉ่าไก่ฯลฯ
          “ครูจะลองฝึกทำกับยูทูปมาก่อนแล้วจึงไปฝึกให้กับเด็ก บางครั้งเราก็มีพ่อแม่ของเด็กมาช่วยจ่ายตลาดและมาเป็นวิทยากรสอน เรียกได้ว่า ครูกับนักเรียนเราจะเรียนรู้ไปด้วยกัน ส่วนผลงานของเด็กๆ นอกจากจะมีการแบ่งปันให้เด็กที่ไม่มีอาหารเย็นนำกลับบ้านแล้ว ยังจำหน่ายในโรงเรียนในราคาถูก มีการนำไปฝากขายในร้านค้าของหมู่บ้าน และบางครั้งก็ได้รับออร์เดอร์ทำส่งขายในงานเทศกาลต่างๆ ที่สำคัญเด็กๆ ต้องฝึกการทำบัญชีรายรับรายจ่าย การบริหารงาน บริหารเงินและสต็อกวัตถุดิบด้วย เป็นการนำวิชาความรู้ในห้องเรียนมาใช้ในชีวิตจริง โดยจะมีครูดูแลอย่างใกล้ชิด” คุณครูเพ็ญศรีกล่าว
          นอกจากนี้แล้วทางโรงเรียนยังสอนวิชาชีพด้านต่างๆ อาทิ ช่างผม ช่างปูน อีกทั้งยังปรับสภาพแวดล้อมซึ่งอยู่ริมแม้น้ำมูลให้มีมูลค่าด้วยการพัฒนาโครงการเกษตรขึ้นในบริเวณโดยรอบ อาทิ เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงหมูหลุม ปลูกพืชผักสวนครัว มะนาว พริก และกำลังพัฒนาไปสู่การปลูกพืชไร่พืชสวนอื่นๆ ริมน้ำ รวมไปถึงการฝึกอาชีพการตัดผมชาย การเป็นช่างไม้พื้นฐานโดยมีครูในโรงเรียนและศิษย์เก่าที่กลับมาช่วยกันเป็นวิทยากร
          “นักเรียนชายบางคนไม่ชอบทำอาหาร เราก็ให้ไปเข้าฐานเรียนวิชาที่เขาชอบบางคนเลือกตัดผม หรือไปช่วยครูทำเรื่องการก่อสร้างต่างๆ บางคนเลือกที่จะทำเรื่องการเกษตร ซึ่งก็ได้ผลดี วัตถุดิบส่วนหนึ่งก็นำไปขายให้กับโครงการอาหารในโรงเรียน อีกส่วนหนึ่งก็สามารถนำไปขายสร้างรายได้ เช่น จากการปลูกพริกที่ขายได้กิโลกรัมละ 70 บาท และยังพวกเขาสามารถทำเป็นพริกแห้งเพิ่มมูลค่าขายได้ราคาสูงถึงกิโลละ 120-150 บาทก็มี เหล่านี้เป็นความรู้ที่สามารถเอาไปประกอบอาชีพได้จริง” ครูเพ็ญศรีระบุ
          นายวิฑูรย์ หารสาร อายุ 28 ปี ศิษย์เก่าที่มาช่วยเป็นวิทยากรสอนทำอาหารเล่าว่า “การสอนเรื่องอาชีพต้องเน้นเรื่องความสนุกด้วย เด็กจะเบื่อตอนทำความสะอาด ขี้เกียจล้างจาน ล้างหม้อ วิธีแก้คือ เราต้องลงมือและทำกับเขาด้วย จากที่สอนมา 3 ปีพบว่า เด็กบางคนเก่งมาก สามารถนำไปประกอบอาชีพเปิดร้านหรือไปเรียนต่อเรื่องอาหารโดยตรงได้เลย”
          ด.ญ.บารณี ปัดชา หรือ “น้องทับทิม” นักเรียนชั้น ม. 2 เล่าให้ฟังว่า “เริ่มเรียนทำขนมก่อน วันแรกๆ ที่ฝึกทำ คุณครูให้เอากลับไปบ้านไปฝากพ่อแม่ แต่ปรากฏว่ามีคนขอชิมระหว่างทางจนหมด แต่หลังจากนั้นก็มีคนมาสั่งทำและได้ฝากขายในร้านค้าใกล้บ้าน จริงๆ แล้วอยากเป็นทหาร แต่การทำอาหารก็เป็นอาชีพเสริมที่ดีค่ะและได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ได้อีกด้วย”
          ด.ญ.ฐิตินันท์ บุคะจำปา หรือ “น้องกิ๊ก” นักเรียนชั้น ม. 3 เล่าเสริมว่า “การฝึกอาชีพนี้ทำให้ได้นำเอาวิชาที่เรียนมาใช้และทำให้เรียนเก่งขึ้น เช่น วิชาคณิตศาสตร์ สามารถเอาเรื่องการ ชั่ง ตวง วัด มาคำนวณส่วนผสมการทำขนมหรืออาหารได้ หรือการทำบัญชี เป็นเรื่องไม่ยากถ้าเข้าใจ และยังได้ฝึกให้เราเรียนรู้เรื่องความประหยัดอีกด้วย อย่างแรกที่ทำเป็นคือ ผัดกะเพราเอาไปให้พ่อชิมพ่อก็ชม แต่ก่อนแม่ไม่ให้เข้าครัวบอกว่า เกะกะตอนนี้ให้ทำครัวเป็นลูกมือแม่ได้แล้ว”
          “เด็กจะเก่งหรือไม่เก่งไม่สำคัญ แต่ทำอย่างไรจะทำให้เขาอยู่รอด โครงการนี้ได้ทำให้ปัญหาของเด็กที่หนีเรียนไปมั่วสุมน้อยลง เด็กมีโภชนาการดีขึ้น และยังเป็นการสร้างทักษะอาชีพด้านต่างๆ ที่เด็กจะสามารถนำไปใช้ได้ทั้งชีวิต ช่วยปลูกฝังให้เด็กมีความรับผิดชอบ โอบอ้อมอารี ซื่อสัตย์ มีระเบียบ และประหยัดขึ้น ซึ่งการฝึกวิชาชีพต่างๆ ทั้งหมดนี้ โชคดีที่ชุมชน ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และชาวบ้านชาวบุ่งมะแลงให้การสนับสนุน เพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาอาชีพให้กับเด็กนักเรียนและลูกหลานของคนในชุมชน” รองผู้อำนวยการ รร.บ้านบุ่งมะแลงกล่าวสรุป.


ข่าวโรงเรียนบ้านบุ่งมะแลง+โรงเรียนบ้านบุ่งวันนี้

ทีซีเอ็มซีจัดกิจกรรมซีเอสอาร์มอบทุนการศึกษาให้น้องๆ

ทีซีเอ็มซีส่งมอบความสุขส่งท้ายปีกับกิจกรรม CSR มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน โรงเรียนบ้านบุ่งเตย อ.ปากช่อง จ. นครราชสีมา นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TCMC) ได้นำทีมผู้บริหาร และพนักงาน เดินทางไปร่วมจัดกิจกรรม CSR ส่งมอบความสุขส่งท้ายปี กับงานมอบทุนการศึกษาให้นักเรียน โรงเรียนบ้านบุ่งเตย อ.ปากช่อง จ. นครราชสีมา จำนวน 40 ทุน ทุนละ 500 บาท และ ค่าอาหารกลางวันเลี้ยงเด็ก ๆ อีก 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 25,000 บาท โดยคัดเลือกจาก

คณะบุคคลผู้ผลิตชิ้นส่วนอีซูซุ นำโดย มร.โท... ภาพข่าว: กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอีซูซุมอบเงินสมทบทุนปรับปรุงห้องสุขาโรงเรียน — คณะบุคคลผู้ผลิตชิ้นส่วนอีซูซุ นำโดย มร.โทชิมูเนะ ซาชิซาวา ผู้จัดการกลุ่มงานบริ...

ภาพข่าว: อาคเนย์ แฟมิลี่ แรลลี่ ครั้งที่ 3

นายโชติพัฒน์ และนางอาทินันท์ พีชานนท์ ประธานและรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด ปล่อยขบวนรถแรลลี่การกุศล “อาคเนย์ แฟมิลี่ แรลลี่ ครั้งที่ 3 เส้นทาง กรุงเทพฯ – ปากช่อง จ.นครราชสีมา” เพื่อฉลองยอดขายให้แก่ตัวแทน นายหน้า และโบรกเกอร์รวม 230...

ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง ช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบภัยแล้ง

ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง ให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง โดยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายให้กับราษฎรเพื่อการอุปโภค บริโภค พื้นที่โรงเรียนบ้านบุ่งอุทัย ตำบลนาสีนวล...