ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องจัดทำข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมุ่งมั่นและเป็นธรรมในปี 2558

03 Jul 2015
องค์กรพัฒนาเอกชนเตือน หากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น ณ กรุงปารีสในช่วงปลายปีนี้ ยังคงขาดข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่มุ่งมั่นและเป็นธรรม โลกอาจที่จะต้องสูญเสียโอกาสสำคัญที่จะเปลี่ยนการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น

แนวร่วมแห่งอาเซียนเพื่อข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย หรือ ASEAN for a Fair, Ambitious and Binding Global Climate Deal (A-FAB) กล่าวว่า พายุไต้ฝุ่น อุทกภัย และภัยแล้งกลายเป็นเหตุบรรทัดฐานใหม่ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ และเป็นการเน้นย้ำความจำเป็นที่ต้องดำเนินการแก้ไขสาเหตุและผลกระทบจากการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตามกลุ่มแนวร่วมแห่งอาเซียนฯได้กล่าวเสริมว่ารัฐบาลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในฐานะที่สามารถสนับสนุนเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนที่กำลังจะมาถึง และการเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้

ในทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เผชิญกับพิบัติภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว ที่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อชีวิต โครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินชีวิต ในปี2556 พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนได้คร่าชีวิตประชาชนกว่า 6,300ชีวิต ทำให้ประชาชนต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยกว่าแสนครอบครัวในประเทศฟิลิปปินส์ และเมื่อปี 2554 เหตุการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทยทำความเสียหายต่อภาคเกษตรกรรมคิดเป็นมูลค่าถึง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัจจัยเสริมให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น

"การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการผลิตพลังงาน ถูกพบว่าเป็นที่มาหลักของก๊าซเรือนกระจก เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่การปฎิรูปนโยบายของอาเซียนจะต้องยกเลิกการสนับสนุนเชื้อเพลิงจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ และหันมาสนับสนุนพลังหมุนเวียน และพลังงานอื่นๆที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบทของการรวมกลุ่มเศรษฐกิจของอาเซียน" เซลดา โซริยาโน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กรีนพีซ เอเชียตวันออกเฉียงใต้ สมาชิกแนวร่วมแห่งอาเซียนฯ กล่าว

เซลดากล่าวเพิ่มเติมว่า "โครงการที่จะดำเนินการด้านนโยบายพลังงานคาร์บอนต่ำสามารถบรรจุรวมในนโยบายของประเทศอาเซียนในนามของ การกำหนดเป้าหมายสนับสนุนในระดับประเทศอย่างมุ่งมั่น (INDCs) หรือแผนปฎิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่พวกเขาสามารถใช้ภายใต้สนธิสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศใหม่"

"เราขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียน มั่นใจว่าการดำเนินการที่เป็นธรรมและมุ่งมั่นในข้อกำหนด INDCs เพื่อปกป้องอนาคตของประชากรในภูมิภาค" เซลดา กล่าวสรุป

ในบทสรุปนโยบายที่ เผยแพร่โดย แนวร่วมแห่งอาเซียนฯ ดร.แกรี่ เทเซียร่า จาก กองการบริหารสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาเลเซีย ได้ระบุความเป็นไปได้ของรัฐบาลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะพัฒนา ข้อกำหนด INDCs ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การตั้งเป้าหมายลดการตัดไม้ทำลายป่า และเรียกร้องทางเลือกของระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานสะอาด

"INDC แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศที่จะต่อสู้กับการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะดีกว่านี้หาก INDC มีข้อมูลที่อธิบายถึงวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละประเทศสามารถทำได้" ดร.แกรี่กล่าว

ดร.แกรี่กล่าวเสริมว่า อาเซียนควรจะกรตุ้นเตือนให้รัฐสมาชิกประกาศเจตนารมย์ ความมุ่งมั่นในแผน INDCs ของแต่ละประเทศพร้อมระบุถึงตัวชี้วัดที่ชัดเจนกี่ยวกับวิธีการดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ

"การพัฒนาเป้าหมายด้านการเงิน การถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาความสามารถของประเทศที่พัฒนาแล้วจะช่วยปรับแผนบรรเทาผลกระทบของภูมิภาคอาเซียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้" ดร.แกรี่กล่าวเพิ่มเติม

"เป็นสิ่งสำคัญที่จะใส่แผนการปรับตัวไว้ใน INDCs ทั้งนี้ หนึ่งในความท้าทายที่สุดที่ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังเผชิญอยู่คือการช่วยชุมชนยากจนทั่วภูมิภาคให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ " ริซ่า เบอร์เนบ ผู้ประสานงานด้านนโยบายและวิจัย โครงการ GROW จาก อ็อกแฟม เอเชียตะวันออกหนึ่งในสมาชิกแนวร่วมแห่งอาเซียนฯ กล่าว

"ประเทศที่พัฒนาแล้วควรที่จะสนับสนุนทางการเงินในด้านการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา และยึดถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เราเชื่อในความเทเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศว่าประเทศที่มีก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควรที่จะรับผิดชอบต่อการปรับตัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ริซ่ากล่าวเสริม

A-FAB หรือแนวร่วมแห่งอาเซียนเพื่อข้อตกลงที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย (Asean for a Fair, Ambitious and Binding Global Climate Deal) เป็นการรวมกลุ่มระหว่างกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ็อกแฟม และ the Eastern Regional Organization for Public Administration เพื่อผลักดันบทบาทของอาเซียนในฐานะตัวแทนของกลุ่มประเทศในภูมิภาคในการประชุมเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ )UNFCCC) และในฐานะประชาคมที่ต้องต่อสู้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ