กสิกรไทยชู 2 พันธมิตรระดับโลก ดันศาสตร์สากลต่อยอดธุรกิจครอบครัว

07 Jul 2015
กสิกรไทยดึง IMD และธนาคารลอมบาร์ด โอเดียร์ เสริมองค์ความรู้ธุรกิจครอบครัวไทย ถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ด้านบรรษัทภิบาลและยุทธศาสตร์การบริหารในระดับสากล หวังช่วยการส่งต่อธุรกิจครอบครัวไทยมูลค่า 17 ล้านล้านบาทสู้ศึกการค้ายุคไร้พรมแดนอย่างราบรื่นยั่งยืน

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้นำอันดับ1 ในการเป็นธนาคารหลักของลูกค้ากลุ่มธุรกิจครอบครัวของไทย ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจรวมกันสูงถึง 17 ล้านล้านบาท ดังนั้นการพัฒนาธุรกิจและการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น จึงมีความสำคัญต่อภาพรวมธุรกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

ธนาคารกสิกรไทย จึงได้จับมือเป็นพันธมิตรกับสถาบัน IMD ซึ่งเป็นศูนย์ธุรกิจครอบครัวระหว่างประเทศอันดับ 1 ของโลก และธนาคารลอมบาร์ด โอเดียร์จากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นธนาคารที่มีประสบการณ์ด้านไพรเวทแบงกิ้งและการบริหารความเสี่ยงมายาวนานกว่า 200 ปี ในการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยในการส่งต่อธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งด้านบริหารจัดการเพื่อแข่งขันในเวทีการค้าโลกที่มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมาธุรกิจครอบครัวมีปัจจัยอ่อนไหวที่มักเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น การส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นที่อาจจะยังไม่พร้อมส่งต่อธุรกิจ การบริหารจัดการภายในครอบครัวซึ่งมีความอ่อนไหวทางอารมณ์มากกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ครอบครัว ความรู้สึกของสมาชิกครอบครัวที่มีต่อการจัดการเรื่องการเงินภายในครอบครัว และความแตกต่างระหว่างรุ่นพ่อและรุ่นลูก ซึ่งต้องหาจุดร่วมที่ทั้ง 2 รุ่นจะเดินไปด้วยกัน ดังนั้นยุทธศาสตร์บรรษัทภิบาลในธุรกิจครอบครัว(Governance in Family Business) จึงถือเป็นหลักสำคัญที่จะช่วยเสริมโอกาสแห่งการเติบโตและขยายตัวต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยในสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนของธุรกิจครอบครัวสูงถึง 80-90% ในยุโรปมีสัดส่วนของธุรกิจครอบครัว 83% และในตะวันออกกลางมีสัดส่วนของธุรกิจครอบครัวอยู่ประมาณ 75% ส่วนในประเทศไทยธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่มีอยู่มากกว่า 50% หรือราว 7,500 บริษัท

ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจครอบครัวของไทยส่วนใหญ่เป็นการบริหารงานของทายาทธุรกิจในรุ่นที่ 2-3 ที่กำลังจะส่งมอบให้รุ่นที่ 3-4 ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของธุรกิจครอบครัวในการคัดเลือกทายาทและรูปแบบวิธีการดำเนินธุรกิจเพื่อส่งต่อรุ่นต่อไป เนื่องจากโอกาสของการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นยิ่งน้อยลง จากสถิติพบว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัว 70% ไม่สามารถอยู่รอดไปถึงรุ่นที่ 2 และ กว่า 90% ไม่สามารถอยู่รอดไปถึงรุ่นที่ 3 จึงเหลือธุรกิจที่อยู่รอดถึงรุ่นที่ 3 เพียง 4% ส่วนอายุเฉลี่ยของธุรกิจครอบครัวก็สั้นลงจากอายุเฉลี่ยของธุรกิจครอบครัวในปี 1990 คือ 50-60 ปี (ประมาณรุ่น 2-3) เหลืออายุเฉลี่ยของธุรกิจครอบครัวในปัจจุบัน คือ 24 ปี (ประมาณรุ่น 1-2) ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้ธนาคารตระหนักถึงความมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจครอบครัวไทยให้เติบโต พร้อมส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การดูแลลูกค้าธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ของธนาคารสามารถช่วยให้ลูกค้าธุรกิจครอบครัวเติบโตได้มากขึ้น

ศาสตราจารย์เดนนิส เคนยอน ฮูวิเน่ ผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัวระหว่างประเทศ สถาบัน IMD กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางสู่การส่งต่อธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืนภายใต้แนวทางบรรษัทภิบาล หรือ Corporate Governance เป็นยุทธศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการที่ดีเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายต่อผลการดำเนินงานที่ดีและสร้างผลตอบแทนแก่องค์กรในระยะยาว สามารถตอบโจทย์ธุรกิจในการเตรียมพร้อมตนเองในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี แต่บรรษัทภิบาลในธุรกิจครอบครัวก็มีความซับซ้อนมากกว่าธุรกิจทั่วไป เพราะมีเรื่องของสมาชิกครอบครัวหรือหุ้นส่วนเป็นตัวแปรสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ

โดยจุดมุ่งหมายหลักของการมีบรรษัทภิบาลในธุรกิจครอบครัว นอกจากจะทำให้ระบบการทำงานเป็นรูปแบบที่โปร่งใส สร้างความไว้วางใจระหว่างสมาชิกครอบครัวแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือสามารถนำธุรกิจครอบครัวไปสู่เป้าหมายปลายทางของการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน นั่นคือ ผลการดำเนินธุรกิจโดดเด่นและเติบโตและความสมานฉันท์ระหว่างสมาชิกครอบครัวที่จะเป็นใบเบิกทางสู่การส่งต่อธุรกิจครอบครัวหรือการวางแผนทรัพย์สินร่วมกัน

ในขณะที่ มิสแอน มารี เดอ เวค รองประธาน กลุ่มธนาคารลอมบาร์ด โอเดียร์ สวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า หากธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินไปตามแนวทางบรรษัทภิบาลจะช่วยผลักดันการบริหารสินทรัพย์ของธุรกิจครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยข้อปฏิบัติด้านบรรษัทภิบาลในธุรกิจครอบครัวที่ใช้สืบต่อกันมานาน มีดังนี้ ข้อปฏิบัติด้านสมาชิกและหุ้นส่วนธุรกิจครอบครัว ภายใต้ข้อกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ร่วมกัน (Partnership – Legal Structure)ด้านการบริหารการเงิน (Financing) ด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Awareness) และด้านการส่งต่อทางธุรกิจ(Next Generation)

นายธีรนันท์ กล่าวตอนท้ายว่า ความร่วมมือกับพันธมิตรด้านธุรกิจครอบครัวในระดับโลกในครั้งนี้ ไม่เพียงตอกย้ำความเป็นที่ 1 ในการเป็นธนาคารหลักของธุรกิจครอบครัวไทย แต่การจับมือกับศูนย์ธุรกิจครอบครัวระหว่างประเทศ สถาบัน IMDและธนาคารลอมบาร์ด โอเดียร์จากสวิตเซอร์แลนด์ จะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ลูกค้าธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวไทยขนาดใหญ่ซึ่งมีศักยภาพพร้อมเติบโตและส่งต่อธุรกิจได้อย่างมั่นคงเมื่อเข้าสู่ AEC และแข่งขันในเวทีการค้าโลก โดยกสิกรไทยเชื่อว่าธุรกิจครอบครัวไทยจะได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญจากทั้ง 2 สถาบันในรูปแบบที่แตกต่าง แต่ลงตัวเหมาะสม เป็นรากฐานสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจครอบครัวและการส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้เติบโตได้อย่างมั่นคง สามารถสร้างมูลค่าโดยรวมต่อเศรษฐกิจในประเทศต่อไป