NBTC Policy Watch เปิดงานวิจัย เสนอ กสทช. ตั้งสำนักงานสนับสนุนวิทยุชุมชมใช้คลื่นร้อยละ 20 ให้เป็นจริง

19 Jun 2015
(วันนี้) วันศุกร์ 19 มิ.ย. 58 NBTC Policy Watch จัดแถลงงานวิจัยเรื่อง"กระบวนการอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงบริการชุมชนของ กสทช." โดย นางสาวศริณทิพย์ หมั้นทรัพย์ นักวิจัยโครงการ และเสวนาในหัวข้อ “อนาคตวิทยุชุมชนภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. : รุ่ง หรือ ร่วง?” วิทยากรประกอบด้วย นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง สำนักงาน กสทช.,ดร.ประวิทย์ ชุมชู อ.ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และนายคุณวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ซึ่งจากการดำเนินงานเกี่ยวกับวิทยุชุมชนที่ผ่านมา รวมทั้งประสบการณ์วิทยุชุมชนในต่างประเทศ เพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงประเภทบริการชุมชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะสนับสนุนวิทยุชุมชนให้มั่นคงต่อไป นางสาวศริณทิพย์ นักวิจัย ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อ กสทช. ว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงให้ภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต้องเร่งให้วิทยุรายเดิมคืนคลื่นโดยเร็ว และนำมาจัดสรรใหม่ให้ใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยในระหว่างการจัดสรรคลื่นใหม่ ให้ กสทช. ทดลองออกแบบการจัดสรรคลื่นเอฟเอ็มในบางพื้นที่ เพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการจัดสรรคลื่นต่อไป รวมทั้งการจัดโครงสร้างสายงานการบริหารและปฏิบัติการในสำนักงาน กสทช. ตามประเภทกิจการ มิใช่แยกตามภาระงานเช่นในปัจจุบัน โดยให้มี “สำนักวิทยุชุมชน” เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับวิทยุชุมชนโดยเฉพาะ ตามแบบ สหราชอาณาจักร ให้ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบกิจการ พิจารณาใบอนุญาต ต่ออายุใบอนุญาต จัดทำคู่มือแนะนำผู้ประกอบการ ประชาสัมพันธ์ข้อมูล รวมถึงสนับสนุนวิทยุชุมชนในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ยังไม่สามารถปรับโครงสร้างองค์กรในลักษณะดังกล่าวได้ ให้สำนักการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง (ปส1) ที่รับผิดชอบการอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ตั้ง “จุดบริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)” ภายในสำนักงาน เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการกับผู้ประกอบการวิทยุชุมชนไปก่อน

ทั้งนี้ ศริณทิพย์ เสนอเรื่องการบริหารสำนักงานให้มีธรรมาภิบาล การทำงานแบบมีส่วนร่วม ร่วมกับ (participate) ผู้ประกอบกิจการวิทยุชุมชน และองค์กรตัวแทน ประเมินผลและสรุปการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อออกแบบกระบวนการ และขั้นตอนการออกใบอนุญาตใหม่สำหรับวิทยุชุมชน (และวิทยุประเภทอื่น) ให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง และตอบสนองความต้องการของทั้งองค์กรกำกับดูแลและผู้ประกอบกิจการ ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการวิทยุชุมชนต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์แบบสหราชอาณาจักร ไม่อาจถือว่าเป็นการเปิดเผยความลับของผู้ประกอบกิจการ ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการวิทยุชุมชนนั้น สามารถพิสูจน์ตนเองว่าทำเพื่อชุมชนจนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับใบอนุญาตให้มีสถานีวิทยุเพื่อชุมชนแล้ว องค์กรกำกับดูแล ควรเปิดเผย “การมีอยู่” ของกลุ่มคน และสถานีเหล่านี้ต่อสาธารณะ เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้สังคมวงกว้างรับรู้และใช้เป็นแบบอย่างต่อไป นอกจากนี้ กสทช. ควรมุ่งเน้นสู่การสร้างนโยบายบนฐานของข้อมูล การรวบรวมข้อมูลโดยตรงจากแบบคำขอรับใบอนุญาต และประมวลผลอย่างมีระบบ ในประเด็นกลุ่มผู้ฟังที่ครอบคลุมหรือเป็นเป้าหมายของสถานี ความโดดเด่นของเนื้อหารายการที่ให้บริการ การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อชุมชน วิธีการระดมทุน เป็นต้นเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายและการกำกับดูแลวิทยุชุมชนต่อไป การทำงานที่โปร่งใส-ตรวจสอบได้ การเปิดเผยข้อมูลและเปิดรับฟังความคิดเห็น ไม่ควรเป็นไปเพียงเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นไปเพื่อช่วยให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เช่น การเปิดเผยรายละเอียดของวิทยุชุมชนที่ได้รับใบอนุญาต จะทำให้วิทยุชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง“ร่วมตรวจสอบ” เพื่อให้กลไกกำกับดูแลกันเอง ร่วมกันเป็นจริง

“ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณ รัฐ หรือองค์กรกำกับดูแล (กสทช.) จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเฉพาะ “สำหรับสนับสนุนวิทยุชุมชน” โดยอาจตั้งเป็นกองทุนวิทยุชุมชน และมีคณะกรรมการบริหารกองทุน บริหารจัดการแบบในสหราชอาณาจักร หรือสนับสนุนงบประมาณไปยังองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนวิทยุชุมชนแบบในออสเตรเลีย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเสริมศักยภาพในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ควรกำหนดความช่วยเหลือให้ไม่นำมาซึ่งภาวะพึ่งพิงเกินสมควร เพราะสถานีวิทยุชุมชนควรอยู่ได้ด้วยการอุดหนุนของชุมชน” ศริณทิพย์กล่าว