สกย. ขับเคลื่อนชาวสวนยาง พัฒนาแปรรูปผลผลิตคุณภาพ เตรียมพร้อมฤดูเปิดกรีด ปี ’58 เปิดตลาดยางทั่วประเทศ 108 แห่ง รองรับผลผลิตเกษตรกร

24 Jun 2015
สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เผย ฤดูเปิดกรีดใหม่ ปี ‘58 พร้อมอัดความรู้การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ถูกต้อง / การแปรรูปยางให้ได้คุณภาพ เปิดช่องทางการขายยางเข้าโครงการช่วยเหลือจากรัฐ เร่งเตรียมพร้อมด้านตลาดยาง 108 สกย. เป็นจุดรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรจนหมดฤดู แนะสถาบันเกษตรกรที่รับเงินกู้ ปรับปรุงพัฒนาโรงงานผลิตแปรรูปยางให้ได้มาตรฐาน เพื่อการแปรรูปผลผลิตที่มีคุณภาพ

นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการ สกย. และ โฆษก สกย. เผยว่า ในช่วงฤดูกาลเปิดกรีดใหม่นี้ สกย. ขับเคลื่อนและพัฒนาชาวสวนยางให้มีการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูกาลเปิดกรีด โดยส่งเสริมให้ความรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ถูกต้อง รวมถึงการแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งต้องผลักดันเกษตรกรแปรรูปผลผลิตให้มีคุณภาพ ทั้งในส่วนของยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน เหตุเพราะฤดูกรีดปีที่ผ่านมา เกษตรกรบางกลุ่มประสบปัญหาไม่สามารถนำยางมาจำหน่ายในโครงการของรัฐบาลได้ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องคุณภาพ สกย. จึงมุ่งพัฒนาการแปรรูปผลผลิตของเกษตรกรอย่างเต็มที่ เพื่อลดการเกิดปัญหาดังกล่าว เพราะรัฐบาลยังมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรด้านตลาดยางอีกในอนาคต

ทั้งนี้ หลักการแปรรูปยางพาราเบื้องต้น ยางแผ่นดิบต้องปราศจากสิ่งเจือปน สิ่งสกปรกต้องน้อยที่สุด ความหนาของแผ่นยางต้องไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ความชื้นไม่เกิน 3% คือ เกือบแห้งสนิท สีสม่ำเสมอ มีความยืดหยุ่นดี เป็นไปตามมาตรฐานของ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ส่วนยางแผ่นรมควัน ปัจจุบันนับว่าค่อนข้างมีคุณภาพ เนื่องจากโรงงานผลิตของสถาบันเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่นำน้ำยางสดมาแปรรูปในโรงงานของสถาบันเกษตรกรเอง จึงเป็นที่ยอมรับว่าโรงงานของสถาบันเกษตรกรไทย มีความสามารถผลิตยางแผ่นรมควันคุณภาพดีได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องตลาดยางพารา ยังคงเป็นประเด็นหลักที่มีความสำคัญ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า หลังจากจัดตั้งตลาดกลางเพิ่มอีก 6 จุด ที่ จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี จ.ยะลา จ.หนองคาย และ จ.บุรีรัมย์ เมื่อต้นปี ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับผลผลิตของเกษตรกรทั่วประเทศ สกย. จึงเร่งพัฒนาตลาดประมูลยางท้องถิ่น ทั้ง108 แห่ง ให้มีความพร้อม เพื่อขยายจุดรับซื้อให้เกษตรกร ทั้งนี้ หากมีโครงการช่วยเหลือจากรัฐบาล มั่นใจว่าตลาดประมูลยางท้องถิ่นทั้ง 108 แห่ง จะสามารถเป็นศูนย์กลางการรับซื้อยาง เพื่อนำไปจำหน่ายเข้าโครงการของรัฐบาลได้ ช่วยลดต้นทุนการเดินทางของเกษตรกรที่ต้องไปจำหน่ายผลผลิตถึงตลาดกลาง และเป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา สร้างความเข้มแข็งในการต่อรองซื้อขายผลผลิตยางให้แก่เกษตรกรรายย่อย

นอกจากการขยายตลาดยางพาราภายในประเทศ รัฐบาลยังมีการเจรจากับกลุ่มผู้ประกอบการต่างประเทศ เพื่อทำสัญญาซื้อขาย เบื้องต้นคาดว่าประมาณ 2 แสนตัน จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการตลาดที่รัฐบาลเปิดทางให้เกษตรกรตลอดช่วงฤดูกาลเปิดกรีดใหม่ด้านสถาบันเกษตรกรนิติบุคคลที่ได้รับการอนุมัติวงเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อปรับปรุงโรงงานแปรรูปยาง ขณะนี้คาดว่ายังอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง จึงอยากฝากให้สถาบันเกษตรกรเหล่านี้ ดำเนินการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพคุ้มกับต้นทุน เพราะถือเป็นอีกก้าวในการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้มีแหล่งผลิตและแปรรูปยางที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพยางพาราของประเทศในภาพรวมต่อไป