ราชภัฏโคราชจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เปิดโลกมหัศจรรย์ไดโนเสาร์กลางสยาม

03 Dec 2015
ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดงานประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติไดโนเสาร์เอเชีย ครั้งที่ 2 เพื่อ เฉลิมพระเกียรติขึ้น ในระหว่างวันที่ 19 - 24 พฤศจิกายน 2558 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สยามสแควร์ ซึ่งจะได้ประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้จากการวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ ของนักวิจัยจากประเทศต่างๆ และได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือขององค์กรและบุคคลระหว่างประเทศ
ราชภัฏโคราชจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เปิดโลกมหัศจรรย์ไดโนเสาร์กลางสยาม

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 คณะผู้จัดได้รับเกียรติจากนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการฯ และกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ได้เป็นผู้บรรยายเรื่อง "ไดโนเสาร์ไทย : มิติใหม่ของการท่องเที่ยวแห่งอาเซียน" ซึ่งกล่าวถึงประเทศไทยมีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของอินโดจีนและศูนย์กลางการคมนาคมในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จำนวน 10 ประเทศ และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งในทางธรณีวิทยาเรียกว่า "ที่ราบสูงโคราช" ประกอบด้วยชั้นหินในยุคไดโนเสาร์ คิดเป็นพื้นที่ถึงเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ ได้พบไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์ที่สุดในอาเซียนไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด ศักยภาพด้านบรรพชีวินดังกล่าว เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งมีอัตราค่อนข้างสูงถึงเฉลี่ยปีละ 15 % ทำให้คาดว่า เมื่อเริ่มปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยมากกว่า 30 ล้านคน อาจจะติดอันดับในกลุ่ม 7 ประเทศแรกของโลกที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากที่สุดด้วย ดังนั้น จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในการอาศัยศักยภาพ ที่โดดเด่นและแตกต่างดังกล่าว ผลักดันให้เกิดธีมพาร์คแบบไดโนพาร์ค คล้ายจูแรกสิกพาร์คหรือจูแรสซิกเวิลด์ขึ้น ในภาคนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่พบไดโนเสาร์จำนวนมาก และเป็นเสมือนประตูสู่อาณาจักรไดโนเสาร์อินโดจีนและเป็น "นครแห่งบรรพชีวินของประเทศไทย" เพราะจะเป็นผลดีต่อการสร้างงานอาชีพ และการเพิ่มรายได้ของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศ

หลังจากนั้นเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านไดโนเสาร์แห่งเอเชียจากหลากหลายประเทศ อาทิเช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มองโกเลีย เกาหลีใต้ สหพันธรัฐรัสเซีย ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

ในการนี้ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้ร่วมให้ถ้อยแถลงและร่วมเปิดงาน "เปิดโลกมหัศจรรย์ ไดโนเสาร์กลางสยาม" ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร