กรมสุขภาพจิตเผย!!ผลกระทบจากการถูกกระทำความรุนแรงทำผู้หญิงสูญเสียความมั่นใจในตนเอง อับอาย ซึมเศร้าหรือมีอาการทางจิต ในขณะที่เด็กอาจซึมซับและยอมรับความรุนแรงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

30 Nov 2015
วันนี้ ( 25 พฤศจิกายน2558) ที่จังหวัดนนทบุรี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กสากล จากข้อมูลปี 2556 มีสตรีและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง 31,866 รายเฉลี่ย87 รายต่อวัน หรือชั่วโมงละ 4 รายโดยพบว่าเด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุดผู้กระทำคือแฟนสาเหตุจาก สภาพแวดล้อม อาทิ สื่อลามกต่างๆ หรือความใกล้ชิด รองลงมา คือ การใช้สารกระตุ้น อาทิ การดื่มสุรา ใช้สารเสพติดอื่นๆและสัมพันธภาพในครอบครัว ในขณะที่สตรีถูกกระทำความรุนแรงทางกายมากที่สุด ผู้กระทำได้แก่ สามี แฟน และคนในครอบครัวสาเหตุจาก สัมพันธภาพในครอบครัว อาทิ การนอกใจ ทะเลาะ หึงหวง รองลงมา คือ การใช้สารกระตุ้น และสภาพแวดล้อม
กรมสุขภาพจิตเผย!!ผลกระทบจากการถูกกระทำความรุนแรงทำผู้หญิงสูญเสียความมั่นใจในตนเอง อับอาย ซึมเศร้าหรือมีอาการทางจิต ในขณะที่เด็กอาจซึมซับและยอมรับความรุนแรงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ผลกระทบจากการถูกกระทำความรุนแรงในผู้หญิงนั้น ส่งผลต่ออารมณ์บุคลิกภาพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจมีความกระวนกระวาย จิตใจแปรปรวนบางคนมีอาการเครียด ท้อแท้เรื้อรัง สูญเสียความมั่นใจในตนเอง อับอาย ซึมเศร้า หรือบางรายมีอาการทางจิต หวาดกลัว หวาดผวา เป็นต้น ขณะที่เด็กมีโอกาสซึมซับและยอมรับความรุนแรงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยเข้าใจผิดว่าปัญหาต่างๆ สุดท้ายต้องแก้ไขด้วยความรุนแรง

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า การดื่มสุราก็เป็นอีกปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่นำไปสู่การกระทำความรุนแรงต่อทั้งสตรีและเด็กเนื่องจากสุราจะมีผลกับสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการคิด การตัดสินใจ และการใช้เหตุผล ทำให้ผู้ที่ดื่มขาดการยับยั้งชั่งใจ ใช้เหตุใช้ผลได้ไม่ดีนัก ไม่รับรู้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก ทำให้เกิดความรู้สึกคึกคะนอง และก้าวร้าว การกระทำความรุนแรงจึงเกิดขึ้นกับบุคคลที่อยู่รอบข้างได้ง่ายพร้อมแนะ 5 ไม่ ป้องกันตัวเองจากการถูกผู้ดื่มสุราทำร้าย คือ 1.ไม่นิ่งนอนใจ โดยตรวจสอบว่าผู้เมาสุรา มีอาวุธอยู่กับตัว หรือบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ ถ้ามี และไม่มั่นใจว่าปลอดภัย ให้โทรศัพท์แจ้งตำรวจ 2.ไม่ใช้กำลัง ในการยุติความ เว้นแต่จะเป็นการกระทำไปเพื่อป้องกันตัวตามเหตุผลที่สมควร 3.ไม่สร้างบรรยากาศ ข่มขู่ ตำหนิ หรือกดดัน ไม่ยิ้มเยาะหรือหัวเราะ ไม่โต้แย้งหรือ ท้าทาย หรือตะโกนใส่ เพราะจะยิ่งเพิ่มความโกรธและหงุดหงิดให้เขามากขึ้น จึงควรยุติการสนทนาลง 4.ไม่ให้บุคคลนั้นเข้าใกล้เครื่องยนต์กลไกหรือขับขี่ยานพาหนะ และ 5.ไม่เข้าไปใกล้บุคคลนั้นมากเกินไป เพราะจะเป็นอันตรายได้ จึงควรมีระยะห่าง ตลอดจนหลีกเลี่ยงการจ้องตาหรือการมองตาอย่างต่อเนื่อง

"ที่สำคัญ ทุกคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม ถ้าเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นต้องไม่เพิกเฉย ควรรีบให้ความช่วยเหลือตามกำลังความสามารถ เช่น โทรศัพท์แจ้งตำรวจ แจ้ง OSCC (One Stop Crisis Center) แจ้งสายด่วน 1300 ,ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชนสายด่วน 1111 หรือศูนย์ดำรงธรรม ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงภายในชุมชน เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งหรือเรื่องส่วนตัวของใคร และของผู้เมาสุรา หากพบคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดมีปัญหาทางจิตใจเนื่องจากถูกกระทำความรุนแรง สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว