ปริมาณการจราจรทางอากาศระหว่างประเทศและภายในประเทศผลักดันการเติบโตทางด้านการบินของภูมิภาคตะวันออกกลาง

18 Nov 2015
ในเวลาอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้าลำใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลางราว 2,500 ลำ

การเติบโตทางด้านการบินในภูมิภาคตะวันออกกลางมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีเพียงไม่กี่ภูมิภาคในโลกที่สามารถเทียบเท่าได้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเดินทางระหว่างและภายในภูมิภาคนั้นได้เพิ่มรายได้ให้กับภูมิภาคตะวันออกกลางถึง 4 เท่าตัว จนทำให้มีการเรียกขานภูมิภาคนี้ว่าเป็นสี่แยกของการบินในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ จากการปฏิบัติการเที่ยวบินด้วยเครื่องบินแอร์บัส เอ380 เครื่องบินแอร์บัส เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี เครื่องบินแอร์บัส เอ330 และเครื่องบินแอร์บัส เอ330นีโอ ทำให้ประชากรกว่าร้อยละ 90 ทั่วโลกสามารถเชื่อมต่อการเดินทางผ่านเส้นทางในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ โดยการประมาณการณ์ล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการบินได้ช่วยสนับสนุนให้มีการจ้างงานกว่า 2 ล้านตำแหน่ง และก่อให้เกิดมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) สูงถึง 116 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าว

ในอีก 20 ปีข้างหน้า (ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2577) การจราจรทางอากาศในภูมิภาคตะวันออกกลางจะเติบโตขึ้นที่อัตราร้อยละ 6.0 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.6 จากการเติบโตนี้จะทำให้เกิดความต้องการเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้าใหม่ราว 2,460 ลำ ซึ่งมีมูลค่าราว 590 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากความต้องการเครื่องบินทั้งหมดนี้ เครื่องบินราว 1,890 ลำนั้นเป็นความต้องการเครื่องบินเพื่อรองรับการเติบโต และอีก 570 ลำเป็นความต้องการเครื่องบินเพื่อมาทดแทนเครื่องบินลำเก่า ภายในปี พ.ศ. 2577 ฝูงบินของเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้าในภูมิภาคตะวันออกกลางจะเพิ่มจำนวนเกือบสามเท่าตัว จากราว 1,100 ลำในปี พ.ศ. 2558 เป็น 2,950 ลำในปี พ.ศ. 2577

เส้นทางพิสัยการบินระยะไกลนั้นเป็นหัวใจสำคัญในการเติบโตของการจราจรทางอากาศระหว่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการเที่ยวบินด้วยเครื่องบินลำตัวกว้างอย่าง เครื่องบินแอร์บัส เอ380 เครื่องบินแอร์บัส เอ330 รวมถึงเครื่องบินแอร์บัส เอ350 และเครื่องบินแอร์บัส เอ330นีโอ ที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการเครื่องบินรุ่นลำตัวกว้างราว 1,570 ลำ เพื่อรองรับความต้องการในภูมิภาค

นอกจากนี้ การจราจรทางอากาศภายในประเทศและระหว่างภูมิภาคก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยอัตราร้อยละราว 6 เนื่องจากชุมชนเมืองที่เกิดขึ้นใหม่และการเพิ่มจำนวนของเมืองขนาดใหญ่ด้านการบินจาก 4 เมืองเป็น 9 เมือง และความนิยมที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในการเดินทางเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว (ทั้งการเดินทางเพื่อการพักผ่อนและการเดินทางเชิงวัฒนธรรม) ภายในปี พ.ศ. 2577 ภูมิภาคตะวันออกกลางจะมีความต้องการเครื่องบินทางเดินเดี่ยวเพิ่มขึ้นอีกราว 890 ลำ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวโน้มเหล่านี้

เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่เป็นแรงขับเคลื่อนที่แท้จริงของการเติบโตด้านการจราจรทางอากาศทั่วโลก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในเศรษฐกิจเพื่อนบ้านอย่างจีน อินเดีย และแอฟริกา มีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี ซึ่งทำให้จำนวนประชากรชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 4 พันล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2577 ประชากรกว่า 6.3 พันล้านคนในเขตเศรษฐกิจเหล่านี้จะเป็นที่มาของการบริโภคภาคเอกชน (private consumption) ทั่วโลกในอัตราสูงถึงร้อยละ 40 เปรียบเทียบกับอัตราร้อยละ 31 ในปัจจุบัน ซึ่งแนวโน้มนี้ถือเป็นสิ่งที่ต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเหล่านี้ รวมถึงการเติบโตในด้านการจราจรทางอากาศด้วย

"การเติบโตอันน่าประทับใจของภูมิภาคตะวันออกกลางในฐานะที่เป็นสี่แยกด้านการบินของโลกนั้น มีเหตุผลสำคัญสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติการเที่ยวบินด้วยเครื่องบินรุ่นลำตัวกว้าง" มร. จอห์น ลีฮีย์ ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการลูกค้าสัมพันธ์ของแอร์บัส กล่าว "นอกจากนี้ เส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระดับภูมิภาคก็กำลังเติบโตด้วยเครื่องบินทางเดินเดี่ยวของเราเช่นกัน เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่พร้อมจำนวนประชากรชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตด้านการจราจรทางอากาศอย่างต่อเนื่อง"

จากการคาดการณ์ตลาดโลกของแอร์บัสในอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2558-2577) ปริมาณการจราจรของผู้โดยสารทั่วโลกจะเติบโตขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4.6 ต่อปี ส่งผลให้เกิดความต้องการเครื่องบินลำใหม่ราว 32,600 ลำ (ประกอบด้วยเครื่องบินโดยสารที่มีที่นั่ง 100 ที่นั่งขึ้นไปจำนวน 31,800 ลำ และเครื่องบินขนส่งสินค้าจำนวน 800 ลำ) ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2577 ฝูงบินของเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากจำนวน 19,000 ลำในปัจจุบัน เป็น 38,500 ลำ โดยจะมีเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้าที่ขาดประสิทธิภาพในการเผาผลาญเชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่าถูกปลดประจำการเป็นจำนวนราว 13,100 ลำ

ขนาดของเครื่องบินโดยเฉลี่ยเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 40 ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา จากการที่สายการบินต่างๆ ได้เพิ่มขนาดของเครื่องบินเพื่อการดำเนินงานตามกำหนดเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปฏิบัติการที่สนามบินที่การเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืนนั้นนำมาซี่งความสามารถในการลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงและการลดมลภาวะทางเสียงของเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 70 ในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องผ่านนวัตกรรมต่างๆ อย่างเครื่องบินแอร์บัส เอ320นีโอ เครื่องบินแอร์บัส เอ330นีโอ เครื่องบินแอร์บัส เอ380 และเครื่องบินแอร์บัส เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี