อพวช. จับมือ 3 หน่วยงาน เฟ้นหานักเขียนรุ่นใหม่หัวใจวิทย์ ชวนประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ เปิดตัวในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ 2558

17 Nov 2015
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ เปิดสมอง กระตุ้นจินตนาการสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน และสังคมไทยหันมาสนใจเรื่องราวด้านวิทยาศาสตร์และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านงานเขียน ชวนนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ส่งเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์เข้าประกวด หมดเขตรับสมัครผลงานภายในวันที่ 1 เมษายน 2559 และประกาศผลการตัดสิน วันที่ 1 กรกฏาคม 2559

ศ.ดร.หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ กล่าวในการเป็นประธานแถลงข่าวว่า การนำเสนอเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบเรื่องสั้นหรือนิยายวิทยาศาสตร์ มีประวัติที่น่าสนใจมายาวนาน นิยายวิทยาศาสตร์ถือเป็นการผนวกความรู้หรือจินตนาการด้านวิทยาศาสตร์เข้ากับลีลาแห่งวรรณกรรม และนำมาเผยแพร่ให้ผู้อ่านได้รับความบันเทิงโดยมีเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินเรื่องราว ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าหลายต่อหลายครั้ง จินตนาการต่างๆ ที่โลดแล่นอยู่ในนิยายเรื่องนั้นๆ ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ เช่น เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโลกทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน ไปจนถึงยานอวกาศที่เดินทางเอาชนะแรงดึงดูดของโลกเพื่อออกไปนอกโลกได้ การได้อ่านนิยายวิทยาศาสตร์นอกจากจะได้รับความบันเทิงแล้ว ยังทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจหลักการวิทยาศาสตร์ มีวิธีคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ช่วยสร้างให้ผู้อ่านเห็นภาพของวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม เติมเต็มภาพของวิทยาศาสตร์เรื่องต่างๆ ให้กับผู้อ่าน และยังทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเรา นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ดีที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างนักวิทยาศาสตร์และคนทั่วไปอย่างดีชิ้นหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ โดยความร่วมมือของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เกิดขึ้น และผมเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดผลงานเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และจะช่วยสร้างความตระหนักและตื่นตัวด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่สังคมต่อไป

นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า "ปัจจุบันการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในรูปแบบงานเขียนในบ้านเรายังมีจำนวนไม่มาก อาจเนื่องมาจากสาระทางวิทยาศาสตร์ดูเป็นเรื่องยาก ทำให้ผู้ที่รักในงานเขียนยังไม่สันทัดในการผนวกเรื่องราววิทยาศาสตร์เข้าไปในเนื้อหา แต่ ในขณะที่การนำเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์มาทำเป็นวรรณกรรมที่เรียกว่านิยายวิทยาศาสตร์กลับได้รับความนิยมอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีฐานการคิดเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะนอกเหนือจากความบันเทิงแล้ว เรื่องราวเหล่านั้นยังสร้างแรงบันดาลใจในการใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ รวมทั้งอาจสร้างให้เกิดเป็นนวัตกรรมได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น นิยายวิทยาศาสตร์ยังช่วยสร้างทัศนคติและเจตคติด้านวิทยาศาสตร์ให้กับผู้อ่านได้ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมวิทยาศาสตร์หรือสังคมฐานความรู้และสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในสังคมนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

อพวช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ จึงได้ร่วมมือมหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการ "ประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 1" เพื่อเปิดเวทีและส่งเสริมให้เยาวชนและผู้สนใจได้พัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ โดยเราเชื่อว่าการสื่อสารองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจมีความซับซ้อนในเชิงเนื้อหาและมีความหลากหลายในแนวความคิดผ่านงานเขียนเรื่องสั้นครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการรณรงค์ ปลูกฝังและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ตลอดจนคนไทยอีกมากมายให้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นบันไดสำคัญอีกขั้นหนึ่งในการร่วมสร้างสังคมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป พร้อมกล่าวเชิญชวนให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ ส่งผลงานเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์เข้าประกวด ความยาวไม่ต่ำกว่า 7 หน้า และไม่เกิน 12 หน้ากระดาษ A4 แบบไม่มีภาพประกอบ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.ประเภทนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า 2.ประเภทอุดมศึกษา หรือเทียบเท่า 3. ประเภทประชาชนทั่วไป หมดเขตรับสมัครผลงานภายในวันที่ 1 เมษายน 2559 และประกาศผลการตัดสิน วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ทาง www.nsm.or.th สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nsm.or.th