เปิดตัววิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชูหลักสูตรศิลปศาสตร์เพื่อธุรกิจ พัฒนาบัณฑิตสู่เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปูเส้นทางความรู้สู่อนาคต มุ่งพัฒนาคุณภาพบัณฑิตใหม่ในยุคประชาคมเศรษฐกิจจีน - อาเซียน เปิดตัววิทยาลัยนานาชาติจีน โดยพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตร่วมกับมหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง ประเทศจีน ขึ้น 2 หลักสูตร คือ ภาษาจีนเพื่อการท่องเที่ยวและการโรงแรม และภาษาจีนเพื่อธุรกิจระหว่างประเทศ ก่อนขยายหลักสูตรครอบคลุมเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่ ขณะเดียวกันยังเดินหน้าสร้างพันธมิตรด้านความรู้ โดยจับมือร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลจีน ตั้งศูนย์วิจัยและศูนย์ฝึกอบรม 3 ศูนย์ในไทยเพื่อใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้บูรณาการทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติอย่างเจาะลึก เตรียมพร้อมผลิตบัณฑิตเป็นผู้ประกอบการบุคลิกใหม่ตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจในเวทีการค้าโลก
          มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดพิธีเปิดวิทยาลัยนานาชาติจีน ในวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2558 ณ Diamond Hall อาคาร BU Diamond โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ หนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายหมิง ต้าจุน ผู้อำนวยการสำนักข่าวซินหัวประจำประเทศไทย และนายเฉิน อัน ผู้อำนวยการ ไชน่า เรดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประจำภาคพื้นเอเชีย) ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงานพร้อมกับอาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
          อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีแผนงานพัฒนาหลักสูตรสำหรับผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีบุคลิกและความสามารถที่ชัดเจน มีความเป็นสากลและมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความเชี่ยวชาญภาษาจีน เพื่อสามารถติดต่อสื่อสารและทำธุรกิจกับคู่ค้าในประเทศที่ใช้ภาษาจีนได้ ซึ่งสอดรับกับแนวคิด "One Belt, One Road" Initiative หรือเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ของประเทศจีน ซึ่งเป็นแนวคิดในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของเอเชีย- แอฟริกาเหนือ และยุโรป ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่มีประชากรรวมกันประมาณ 4,400 ล้านคน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 21 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 63 และร้อยละ 29 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก
          นัยสำคัญของแนวคิดนี้แสดงให้เห็นทิศทางของโลกธุรกิจใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ว่า เครื่องมือสำคัญในการสื่อสารเพื่อธุรกิจจะเป็นเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมจากเอเชียที่นำโดยประเทศจีน ภาษาและวัฒนธรรมจีนจึงถูกนำมาเชื่อมโยงและผสมผสานพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสร้างบุคลากรสำหรับธุรกิจยุคใหม่ และด้วยความพร้อมทั้งในด้านวิชาการ และอุปกรณ์ที่ทันสมัยของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงทำให้เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญในเชิงกลยุทธ์กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ของจีน สามารถยกระดับความสัมพันธ์พัฒนาความรู้เพื่อผลประโยชน์ของประชากรทั้งสองประเทศได้
          การเปิดวิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับมหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง ( Guangdong University of Foreign Studies) ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยในช่วงแรกวิทยาลัยนานาชาติจีนจะเปิดสอน 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาภาษาจีนเพื่อการ
ท่องเที่ยวและการโรงแรม และหลักสูตรปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาภาษาจีนเพื่อธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสองหลักสูตรนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนทั้งหมด 4 ปีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือเลือกไปเรียนที่ประเทศจีนเป็นเวลา 1 ปี (หลักสูตร 3 +1) หรือไปเรียนที่ประเทศจีน 2 ปี (หลักสูตร 2 +2) สำหรับนักศึกษาที่เรียนแบบ 2 + 2 (เรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 2 ปี และที่จีนอีก 2 ปี) นี้ จะได้รับปริญญาตรี 2 ใบในสาขาที่แตกต่างกัน คือปริญญาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 1 ใบ และจากมหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง อีก 1 ใบ เป็นการเพิ่มโอกาสในการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี
          ภายใต้แผนดำเนินงานเพื่อพัฒนาความรู้บัณฑิตใหม่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาลจีนในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้บูรณาการทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ทันสมัยจำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่
          1) ศูนย์วิจัยสื่อนานาชาติไทย-จีน (Chinese-Thai International Media Research Center) จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีนโยบายในการสร้างผลงานวิจัยด้านนิเทศศาสตร์และด้านการสื่อสารมวลชน ระหว่างไทยและจีน
          2) ศูนย์ฝึกอบรมสำนักข่าวซินหัว (Xinhua Agency Bangkok Bureau – BUCIC Internship &Training Center) โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยกรุงเทพและสำนักข่าวซินหัวประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นสำนักข่าวทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นสื่อที่ใหญ่ที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศจีน มีสาขามากกว่า 170 แห่งทั่วโลก
          3) ศูนย์ฝึกอบรม CRI (China Radio International Asia Headquarters – BUCIC Training Center) โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และไชน่า เรดิโอ อินเตอร์เนชันแนล (ประจำภาคพื้นเอเชีย) ซึ่งเป็นองค์การสื่อสารมวลชนของรัฐบาลจีนที่ดำเนินการด้านวิทยุกระจายเสียงและเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูล มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในอันดับต้นๆ ในประเทศจีน
อาจารย์เพชรกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาทุนและจัดการฝึกอบรมให้แก่นักศึกษาที่เรียนในวิทยาลัยนานาชาติจีน เป็นการติดอาวุธความรู้ให้นักศึกษาสามารถแสดงความสามารถของตัวเองผ่านโครงการฝึกงานต่างๆ ของศูนย์ ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษามีโอกาสในการเข้าทำงานในองค์กรจีนหรือสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองก่อนที่จะเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่บัณฑิตของวิทยาลัยนานาชาติจีน ในการเลือกสายการทำงานที่ตรงกับเป้าหมายของตนเองเมื่อสำเร็จการศึกษา

เปิดตัววิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชูหลักสูตรศิลปศาสตร์เพื่อธุรกิจ พัฒนาบัณฑิตสู่เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21
 

ข่าววิทยาลัยนานาชาติจีน+มหาวิทยาลัยกรุงเทพวันนี้

เกรท วอลล์ มอเตอร์ เซ็น MOU ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผนึกกำลังส่งเสริมการเรียนรู้และเสริมประสบการณ์ด้านการศึกษาและวิชาชีพ

เกรท วอลล์ มอเตอร์ และวิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อร่วมสร้างความเชี่ยวชาญให้กับบัณฑิต พร้อมส่งเสริมการผลิตผลงานวิชาการ ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสในการพัฒนาความรู้และประสบการณ์จริงทางธุรกิจเพื่อนำมาต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้จริง ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้า (xEV leader) ควบคู่ไปกับการให้ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

"จีน" ถือเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มีกา... ส่องวิทยาลัยนานาชาติจีน...ในประเทศไทย มีที่ไหนบ้าง — "จีน" ถือเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของไวร...

นายกฤษฎา ลี, นางสาวเกวลิน พันธารีย์, นางส... ภาพข่าว: เด็กวิทยาลัยนานาชาติจีน ม.กรุงเทพ รับโล่’ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน — นายกฤษฎา ลี, นางสาวเกวลิน พันธารีย์, นางสาวอารีญา อำนวยวิทย์, นางสาวพัณณ์ชิตา ไชยกิ...

รศ.ดร. ทิพย์จันทร์ วงศ์จันทร์ตา ผู้ช่วยอธ... ม.กรุงเทพประกวดคลิปวิดีโอและภาพถ่ายในโครงการ “shai da xue" — รศ.ดร. ทิพย์จันทร์ วงศ์จันทร์ตา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ ด...

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มุ่งพัฒนาบัณฑิตสู้เส้นทางสายไหม ขยายอาณาจักร

เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มุ่งพัฒนาบัณฑิตสู้เส้นทางสายไหม ขยายอาณาจักรม.กรุงเทพ เปิดวิทยาลัยนานาชาติจีน และกล่าวต้อนรับ ฯพณฯ หนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ในวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน นี้ ...

วิทยาลัยนานาชาติจีน-อาเซียน (CAIC) ร่วมกั... วิทยาลัยนานาชาติจีน-อาเซียน (CAIC) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โครงการ Chinese Camp — วิทยาลัยนานาชาติจีน-อาเซียน (CAIC) ร่วมกับ กลุ่มงานบริหารเครือข่ายในปร...

ม.หอการค้าไทย เปิดวิทยาลัยนานาชาติจีน หลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ต้อนรับ AEC+3

ม.หอการค้าไทย เปิดวิทยาลัยนานาชาติจีน หลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ต้อนรับ AEC+3 คาดการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวภูมิภาคอาเซียน ขยายตัวตามเศรษฐกิจโลก คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ...

ม. หอการค้าไทยแถลงผลวิจัย “ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 57 และแนวโน้มปี 58: ปีสุดท้ายของการปรับตัวเข้าสู่ AEC"

ม. หอการค้าไทยแถลงผลวิจัย “ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 57 และแนวโน้มปี 58: ปีสุดท้ายของการปรับตัวเข้าสู่ AEC" พร้อมเปิดตัววิทยาลัยนานาชาติจีนรองรับ AEC+3 วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2557 เวลา 10.00-11.30 น. ณ ห้อง...