หนุ่มสาวชาวมิลเลนเนียลชูกระแสทานอาหารร้านหรูในเอเชียแปซิฟิก

11 Jan 2016
มาสเตอร์การ์ดเผยคนรุ่นใหม่ยุคข้ามสหัสวรรษ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า คนรุ่นมิลเลนเนียล (อายุ 18-29 ปี) ในเอเชียแปซิฟิกจำนวนถึงหนึ่งในสามมีนิสัยชอบรับประทานอาหารหรูนอกบ้านอย่างน้อยเดือนละครั้ง ซึ่งบ่อยกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป
หนุ่มสาวชาวมิลเลนเนียลชูกระแสทานอาหารร้านหรูในเอเชียแปซิฟิก

สำหรับชาวมิลเลนเนียลในเอเชียแปซิฟิกที่ทานข้าวนอกบ้านบ่อยที่สุด คือ ชาวจีน ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยในการออกมารับประทานอาหารในร้านหรูถึงเดือนละสองถึงสามครั้ง เป็นจำนวนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มชาวมิลเลนเนียลทั้งภูมิภาค และมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆทั้งหมด"ปากต่อปาก" ยังคงอานุภาพที่สุดในปัจจุบัน

เมื่อต้องตัดสินใจเลือกร้านอาหาร ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกยังคงเชื่อมั่นในคำบอกเล่าหรือคำแนะนำแบบปากต่อปากจากเพื่อนและครอบครัว (ร้อยละ 50) ทั้งนี้ ผู้บริโภคโดยรวมทั้งหมด ไม่จำกัดกลุ่มอายุก็อาศัยการตัดสินใจโดยอิงคำแนะนำแบบนี้เป็นส่วนใหญ่เช่นกัน โดยที่ชาวมิลเลนเนียลนั้นเชื่อคำแนะนำแบบปากต่อปาก (ร้อยละ 52) มากกว่าการอ่านคำแนะนำออนไลน์ (ร้อยละ 38)

ข้อมูลดังกล่าวดูสวนกับกระแสที่ว่า ชาวมิลเลนเนียลเองนั้นกว่าหนึ่งในสาม (ร้อยละ 36) ต่างโพสต์ความเห็นและคำแนะนำของตนลงบนโลกออนไลน์เพื่อเล่าประสบการณ์การทานอาหารที่ได้รับมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มมิลเลนเนียลชาวจีน (ร้อยละ 61) และชาวไทย (ร้อยละ 52) ที่มีจำนวนเกินครึ่งได้ทำการโพสต์ข้อความอย่างสม่ำเสมอหลังทานอาหาร

นอกเหนือจากกลุ่มมิลเลนเนียลแล้ว ชาวไทย (ร้อยละ 39) และชาวจีน (ร้อยละ 30) โดยรวมมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากขึ้นในการรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงหกเดือนข้างหน้า โดยที่ราวหนึ่งในสามระบุว่าตั้งใจจะหาร้านอาหารที่หรูหราและแพงขึ้นด้วย

แม้ว่าผู้บริโภคจะชื่นชอบการรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่พวกเขายังคงระมัดระวังในเรื่องค่าใช้จ่าย ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกร้อยละ 64 จะตรวจสอบหาส่วนลดหรือข้อเสนอดี ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากเว็บไซต์ที่แจกคูปอง แอพพลิเคชั่นบนมือถือ หรือจากโครงการส่งเสริมทางการตลาดของบัตรเครดิต ชาวมิลเลนเนียลร้อยละ 68 จะมองหาข้อเสนอที่ดีอยู่เสมอก่อนที่จะตัดสินใจเลือกรับประทานอาหารในร้านใด

นาย เอริค ชไนเดอร์ หัวหน้าส่วนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของมาสเตอร์การ์ด แอดไวเซอร์ กล่าวว่า "คนเอเชียมีวัฒนธรรมในการทานข้าวนอกบ้านมานานแล้ว ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวมิลเลนเนียลกระเป๋าหนักในภูมิภาคนี้จะกลายเป็นนักชิมตัวยง ซึ่งหลายคนก็จะแชร์ประสบการณ์ของพวกเขาลงในโซเชี่ยลมีเดีย และโพสต์ความเห็นออนไลน์ ในขณะที่ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าคนเริ่มเปลี่ยนรูปแบบจากการทานอาหารตามแผงลอยมาทานในร้านอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หนุ่มสาวทั้งหลายยังคงใส่ใจในเรื่องค่าใช้จ่าย ด้วยวิธีที่หลักแหลมและใช้ได้จริง โดยการมองหาส่วนลดและเทียบข้อเสนอต่างๆ คนหนุ่มสาวยังคงเชื่อคำแนะนำแบบปากต่อปาก แม้ว่าจะมีโพสต์แนะนำร้านอาหารมากมายให้เลือกอ่านออนไลน์ ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจในเอเชียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆกับการมีเทคโนโลยีและโซเชี่ยลมีเดียที่ปฏิวัติรูปแบบการเลือกรับประทานอาหาร ทำให้คนทั่วไปคาดหวังและจะมองหาประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการรับประทานอาหารนอกบ้าน"รายละเอียดของผลสำรวจ

• โดยรวมแล้ว ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกยังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยร้อยละ 61 ของผู้บริโภคทั้งหมดระบุว่าจะยังคงทานข้านนอกบ้านบ่อยเท่าเดิมในอีกหกเดือนข้างหน้า ร้อยละ 20 มีแผนที่จะทานข้าวนอกบ้านบ่อยขึ้น และร้อยละ 19 มีแผนที่จะทานข้าวนอกบ้านน้อยลงในอีกหกเดือนข้างหน้า

• ผู้รับประทานอาหารในไทย (ร้อยละ 60) และจีน (ร้อยละ 57) มีแนวโน้มสูงสุดที่จะโพสต์ความเห็นหรือคำแนะนำบนโลกโซเชี่ยล อาทิ เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ โดยจำนวนราวหนึ่งในสองของผู้ตอบคำถามในตลาดนี้รายงานว่า พวกเขาโพสต์ความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างสม่ำเสมอหลังการรับประทานอาหาร

• ผู้บริโภคในจีน (ร้อยละ 58) ไต้หวัน (ร้อยละ 44) และไทย (ร้อยละ 44) มีแนวโน้มสูงสุดที่จะทำการจองข้อเสนอร้านอาหารออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นที่ให้คูปองส่วนลด ในขณะที่ผู้บริโภคในบังคลาเทศ (ร้อยละ 1) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 11) มีแนวโน้มน้อยสุดที่จะทำแบบนั้น

• ผู้บริโภคที่อาวุโสกว่าจำนวนหนึ่งใช้วิธีตรวจสอบทางออนไลน์เพื่อหาส่วนลด ไม่ว่าจะเป็นจาก เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นที่มอบคูปอง หรือโครงการส่งเสริมทางการตลาดของบัตรเครดิต กว่าหนึ่งในสามของผู้บริโภคที่อายุ 55 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 36) ระบุว่าพวกเขาทำเช่นนี้เป็นประจำก่อนเลือกว่าจะไปรับประทานอาหารที่ใด

• ผู้บริโภคในฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 44) กำลังรัดเข็มขัด โดยจำนวนเกือบหนึ่งในสองมีแผนที่จะทานข้าวในร้านที่ถูกลงในช่วงหกเดือนข้างหน้า ร้อยละ 49 ตั้งใจจะทานข้าวนอกบ้านให้น้อยลง

• สถานที่ที่ได้รับความนิยมที่สุดสำหรับการรับประทานอาหารของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก คือ ร้านอาหารระดับกลางและคาเฟ่ ตามมาด้วยร้านอาหารฟาสต์ฟูด และร้านค้าแผงลอย และสุดท้ายคือศูนย์อาหาร

ผลสำรวจที่ได้มาจากการสัมภาษณ์บุคคลจำนวน 8,698 คน (อายุระหว่าง 18 – 64 ปี) ในตลาด 17 แห่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน 2558