นโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน ด้วยการผลักดัน Big Truck & Bus ให้เป็นหนึ่งใน Product Champions

22 Dec 2015
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ กรรมการคลัสเตอร์ยานยนต์ เปิดเผยถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วนว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ออกประกาศที่ 10/2558 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ให้มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบของคลัสเตอร์ เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนภายในประเทศ และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น สร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงเป็นรากฐานในการสร้างอุตสาหกรรมในอนาคต นั้น ในส่วนของนักลงทุนของคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยจะต้องมีการลงทุนในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครราชสีมา พร้อมทั้งต้องมีความร่วมมือกับสถานศึกษาและศูนย์วิจัยในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม นั้น

เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วนภายในประเทศอย่างเร่งด่วนและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย คลัสเตอร์ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้นำเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้

ข้อเสนอ : ขอให้ภาครัฐสนับสนุนให้รถเพื่อการพาณิชย์ (Big Truck & Bus) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เป้าหมาย (Product Champions) นำร่อง และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ต่อตัวถัง ผสมคอนกรีต กระบะบรรทุก ตู้ห้องเย็น ให้ได้รับการสนับสนุนภายใต้นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบของ คลัสเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่ได้รับ ดังนี้

  • ส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์บรรทุกที่สำคัญของโลก
  • การสนับสนุนรถเพื่อการพาณิชย์ (Big Truck & Bus) จะมีส่วนในการใช้ชิ้นส่วนฯ ภายในประเทศ (Localization) เพิ่มขึ้น และขยายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ต่อตัวถัง ผสมคอนกรีต กระบะบรรทุก ตู้ห้องเย็น เป็นต้น
  • ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถเพื่อการพาณิชย์ และผู้ประกอบการชิ้นส่วน ให้มีการพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับมาตรฐานของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs
  • เพิ่มการลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น
  • ส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ (Domestic Consumption) ให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อให้ GDP ของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
  • เพิ่มการส่งออกรถบรรทุกขนาดใหญ่ไปยังประเทศในภูมิภาค CLMV ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน
  • สร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการขนส่ง (Logistics) และการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค