บล.ไทยพาณิชย์ จับตาปัจจัยภายนอกกดดันหุ้นไทยผันผวนต่อในไตรมาส 4 ชี้แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหนุนดัชนีในปี 2559

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) คาดการณ์ตลาดหุ้นไทยจะแกว่งตัวแบบ ไร้ทิศทางจนถึงช่วงปลายไตรมาส 4/2558 ปัจจัยความไม่แน่นอนจากภายนอกประเทศสร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ชี้เศรษฐกิจไทยที่มีเสถียรภาพแข็งแกร่งและมีแนวโน้มเติบโตอย่างชัดเจนในปี 2559 ช่วยเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ดันดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นตามศักยภาพที่แท้จริง พร้อมแนะนำเลือกซื้อหุ้นที่มีโอกาสเติบโตตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังเกิดเหตุระเบิด 
          นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยจะแกว่งตัวผันผวนอย่างไร้ทิศทางจนถึงปลายไตรมาส 4 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ดัชนีปรับลง 5.7% โดยตลาดต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกเนื่องจากความไม่แน่นอนหลายอย่างยังจะคงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะความแตกต่างในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศสำคัญๆ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นตลาดหุ้นยังจะไม่ปรับสู่ขาลงระยะยาวอีกทั้งตลาดโลกยังคงเต็มไปด้วยสภาพคล่องจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยถึงแม้ช่วง ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงแข็งแกร่งและเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยต้านทานความผันผวนในไตรมาสนี้ได้ 
          "ไตรมาสที่ 4 ยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่ราบรื่นนักสำหรับการลงทุน แม้สภาพคล่องโดยรวมของตลาดจะมีมากเกินพอ แต่นักลงทุนจะใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงจากทั่วโลกอยู่ในระดับสูง โดยประเมินว่านักลงทุนในตลาดหุ้นจากทั่วโลกจะนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดที่มีปัจจัยเหล่านี้ 1.เสถียรภาพดี 2.ปัจจัยกระตุ้นในประเทศ 3.ราคาหุ้นที่สมเหตุสมผล ซึ่งตลาดหุ้นไทยเองก็ถือได้ว่ามีความน่าสนใจเช่นกัน อย่างไรก็ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีผลกระทบจำกัดต่อตลาดหุ้นไทย และจะมีแนวโน้มที่เป็นบวกมากขึ้นในระยะกลางเมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มชัดเจน" 
          นายอิสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2559 ปัจจัยต่างๆ ภายในประเทศจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างจับต้องได้ โดยเฉพาะแผนการลงทุนของรัฐ อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะกลางที่ประกาศออกมาในไตรมาสก่อนจะส่งผลทางบวกต่อระบบเศรษฐกิจจริง ตลอดจนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนการอุปโภคบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัวอย่างจับต้องได้ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ช่วยเปิดโอกาสให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นตามศักยภาพ
          หุ้น Top Picks ในไตรมาส 4 ที่ SCBS แนะนำจะอิงกับเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และด้านการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้ ประกอบด้วย 
          · บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) รายงานยอดสาขาเติบโตและเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง กำไรมีแนวโน้มปรับขึ้นได้อีกจากการขายหุ้น บมจ.สยามแม็คโคร 
          · บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) กำไรมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะสาขาทั้งหมดอยู่ในต่างจังหวัด
          · บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) เป็นผู้ได้ประโยชน์รายใหญ่จากมาตรการกระตุ้น อสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งราคาหุ้นปรับตัวลงกว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน เมื่อเทียบกับกำไรที่คาดว่าจะเติบโตสูง และรายได้มีความแน่นอนสูง
          · บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการยกเลิกสัญญาและปฏิเสธสินเชื่อ อีกทั้งยังช่วยหนุนให้ประมาณการกำไรปรับขึ้นด้วย 
          · บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มีสัญญาณบวกจากยอดจองห้องพักล่วงหน้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น 
          · บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) วางแผนเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะจากตลาดเติมเงิน การติดตั้งเครือข่าย 3G/4G เสร็จจะส่งผลทำให้ต้นทุนลดลง และ EBITDA เพิ่มขึ้นในอนาคต

ข่าวหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์+อุตสาหกรรมท่องเที่ยววันนี้

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ คว้า 2 รางวัลยอดเยี่ยมจากสถาบันการเงินระดับโลก ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านบริหารความมั่งคั่งระดับสากลของเมืองไทย

บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer) นำโดย นายเอเดรียน เมซซินาวเออร์ (Adrian Mazenauer) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้บริหารฝ่ายการบริหารความมั่งคั่ง นายคีน ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายการแนะนำการลงทุน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมประกาศความสำเร็จ คว้า 2 รางวัลความเป็นเลิศด้านธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสากลของเมืองไทย ได้แก่ Asian Private Banker ผู้ให้บริการข้อมูลและโซลูชันด้านเวลธ์แมเนจเมนท์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย โดยได้รับรางวัลนี้เป็นปีที่ 3