กรีนพีซกระตุ้นผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกให้หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจากไทยยูเนี่ยน เจ้าของแบรนด์ซีเล็คทูน่าเชื่อมโยงกับการบังคับใช้แรงงานและการทำลายสิ่งแวดล้อม

05 Oct 2015
วันนี้กรีนพีซเริ่มการรณรงค์ระดับโลก(1) เรียกร้องให้ไทยยูเนี่ยนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลกใช้ขั้นตอนที่เร่งด่วนและกว้างขวางครอบคลุมเพื่อขจัดปัญหาการบังคับใช้แรงงาน และวิธีการทำประมงแบบทำลายล้างและสิ้นเปลืองจากห่วงโซ่อุปทาน ไทยยูเนี่ยนเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องชั้นนำหลายประเทศ รวมถึงซีเล็คทูน่าและโอเชียนเวฟในไทย ชิกเก้นออฟเดอะซีในสหรัฐอเมริกา จอห์นเวสต์ในสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นจากผู้บริโภค กลุ่มสิ่งแวดล้อม กลุ่มแรงงานและกลุ่มสิทธิมนุษยชนให้ขจัดปัญหาเหล่านี้ในห่วงโซ่อุปทาน

"เราจะไม่ยอมให้ไทยยูเนี่ยนและผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องของไทยยูเนี่ยนทั่วโลก ใช้มหาสมุทรแลกกับผลประโยชน์ระยะสั้นและคนงานบนเรือประมงต้องเสี่ยงอันตราย นานเกินไปแล้วที่ไทยยูเนี่ยนโยนเรื่องไปที่คนอื่นและเอาตัวเองไว้เบื้องหลังนโยบายที่ไร้ประสิทธิภาพ ผู้บริโภคทุกคนควรได้รับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมจากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่ตนซื้อ จนกว่ายักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมปลาทูน่านี้จะมีความรับผิดชอบและแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง" แกรแฮม ฟรอป หัวหน้าโครงการรณรงค์ด้านตลาดอาหารทะเล กรีนพีซ สหรัฐอเมริกากล่าว

จากรายงานการสืบสวน (2) และรายงานของสื่อมวลชน(3) ที่โยงไทยยูเนี่ยนกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้แรงงาน และวิธีการประมงที่ทำลายล้าง เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา กรีนพีซส่งจดหมายถึงไทยยูเนี่ยนเพื่อเรียกร้องให้มีรายละเอียดแผนงานและกรอบเวลาที่ชัดเจนของการทำประมงที่มีผลกระทบต่ำ การควบคุมดูแล การตรวจสอบย้อนกลับและความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้นของการประมงในทะเล ไทยยูเนี่ยนและบริษัทในเครือทำการประมงทูน่าโดยใช้เครื่องมือสองชนิด คือ อวนล้อมร่วมกับเครื่องมือล่อปลา (FADs) และเบ็ดราว ซึ่งเป็นผลให้สัตว์น้ำที่เป็นผลพลอยได้(by catch) เช่น ฉลาม เต่า ปลาทูน่าวัยอ่อน และนกทะเล เป็นต้น ติดขึ้นมาในปริมาณสูงมาก การประมงแบบอวนล้อมและเบ็ดราวในมหาสมุทรลึกนี้มักเกี่ยวข้องกับการทำประมงแบบผิดกฎหมายการปฏิบัติอย่างไม่ธรรมต่อแรงงานบนเรือ

ผลจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการบังคับใช้แรงงานนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและกฎหมายโดยมีการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม (class-action lawsuit) 3 คดีที่ระบุชื่อไทยยูเนี่ยนในฐานะเป็นผู้จัดจำหน่ายปลาที่จับได้จากการบังคับใช้แรงงาน และใช้ในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง ชิกเก้นออฟเดอะซี และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ในสหรัฐอเมริกา

"อุตสาหกรรมปลาทูน่าไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ปลาหายไปจากมหาสมุทร สร้างความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และขูดรีดแรงงานบนเรือประมง ในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก ไทยยูเนี่ยนมีความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปในที่ทิศทางที่ดีขึ้น ในประเทศไทย นั่นหมายถึง ผลิตภัณฑ์ซีเล็คทูน่าต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังทั้งในทางนโยบายและตลอดห่วงโซ่อุปทาน" อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา สหภาพยุโรป(EU)ได้ให้ใบเหลืองแก่ไต้หวันอันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการลงมือต่อกรกับการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ซึ่งมักเกี่ยวโยงกับการบังคับใช้แรงงาน ไต้หวันติดธงเรือและเป็นเจ้าของเรือประมงที่จัดจำหน่ายวัตถุดิบให้กับผลิตภัณฑ์ของไทยยูเนี่ยนทั่วโลก ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองกับประเทศไทยอันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการขจัดปัญหา IUU fishing การที่ไทยยูเนี่ยนเป็นอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย สิ่งที่ไทยยูเนี่ยนลงมือทำจะช่วยกำหนดว่าประเทศไทยจะได้ใบแดงหรือไม่ ซึ่งนั่นหมายถึงการห้ามนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังตลาดในสหภาพยุโรป

ในสหรัฐอเมริกา รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ปี 2558 (TIP) จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ใน เทียร์ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำสุด และระบุให้อุตสาหกรรมประมงไทยเป็นภาคส่วนที่มีปัญหา รายงาน TIP จัดลำดับประเทศต่างๆ เป็นสามระดับโดยใช้เกณฑ์การปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานต่ำสุดเพื่อขจัดการค้ามนุษย์ นอกเหนือจากปฏิบัติการของรัฐบาลไทย อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างไทยยูเนี่ยนสามารถช่วยหลีกเลี่ยงมาตรการบังคับตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้และความเป็นธรรมในห่วงโซ่อุปทาน

กรีนพีซจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋อง(4) ของไทยยูเนี่ยนในตลาดหลักทั่วโลก ในไทย พบว่า แบรนด์ซีเล็คทูน่าและโอเชียนเวฟยังไม่ผ่านเกณฑ์ด้านความยั่งยืนและความเป็นธรรม