รมช.คลังไทยเข้าร่วมการประชุมผู้ว่าการของประเทศสมาชิกกลุ่มออกเสียง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู

13 Oct 2015
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมประจำปีสภา ผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2558 ได้เข้าร่วมการประชุมผู้ว่าการของประเทศสมาชิก กลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA Group) ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 เพื่อรับทราบถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลการดำเนินงานและนโยบายที่สำคัญ ๆ ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในรอบปีที่ผ่านมา และบทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเกี่ยวกับการทำหน้าที่สอดส่องดูแลเศรษฐกิจ รวมถึงบทบาทของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรโลก ในด้านต่าง ๆ อาทิ การศึกษา สุขภาพ เป็นต้น รวมถึงได้มี การหารือในประเด็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต เช่นกรณีของไทยที่มีจำนวนประชากรในวัยทำงานคาดว่าอยู่ในระดับต่ำ และปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่อาจเป็นภาระทางการคลังในอนาคต

ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมระหว่างนางคริสทีนลาการ์ด (Madame Christine Lagarde) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และรัฐมนตรีว่ำการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของอาเซียน 10 ประเทศ (ASEAN Roundtable Meeting) ในประเด็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของระบบการเงินโลก การเตรียมพร้อมรับผลกระทบจาก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อ ASEAN ที่แม้ปัจจุบันจะยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ก็ตาม แต่ก็จำเป็นต้องระมัดระวัง ความเสี่ยงของประเทศกำลังพัฒนา หนี้ภาคเอกชน รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือมากขึ้นระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศกับอาเซียน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับนาย Hiroshi Watanabe ประธานธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC) เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนญี่ปุ่นในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยผ่านการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของภาครัฐ (Public-Private Partnership: PPP) และบทบาทของ JBIC ในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว และได้มีการหารือกันเกี่ยวกับการเข้าร่วมสนับสนุนของญี่ปุ่นในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในระยะที่สอง เนื่องจากเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนและต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง

นาย Axel Van Trotsenberg รองประธานธนาคารโลกได้เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับธนาคารโลก โดยขณะนี้ธนาคารโลกอยู่ระหว่าง การทำการศึกษาอุปสรรคและโอกาสในการพัฒนาเพื่อลดความยากจนและส่งเสริมการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมของประเทศไทย (Systematic Country Diagnosis: SCD) เพื่อบ่งชี้ปัจจัยหลักๆ ที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญ เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน และเพื่อเป็นฐานในการจัดทำกรอบความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศ (Country Partnership Framework: CPF) ระหว่างประเทศไทยกับธนาคารโลกเพื่อกำหนดบทบาทของธนาคารโลกในการส่งเสริมการพัฒนาในประเทศไทยต่อไป