มาสเตอร์โพล (Master Poll) ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อ ข่าวสาร ยุทธศาสตร์ และ ความเหลื่อมล้ำ

29 Sep 2015
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพล (Master Poll) เรื่อง ข่าวสาร ยุทธศาสตร์ และความเหลื่อมล้ำ กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 518 ชุมชนตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 24 - 26 กันยายน พ.ศ. 2558 พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.7 ติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกวัน โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.5 ระบุข่าวที่ติดตามแล้วเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดคือ ข่าวเศรษฐกิจ ช่วยชี้ช่องทางทำมาหากิน แก้ปัญหาปากท้องได้ ในขณะที่ข่าวปฏิรูปการเมือง การเคลื่อนไหวทางการเมือง มีแกนนำชุมชนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนน้อยที่สุดคือเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงสำหรับการขับเคลื่อนประเทศชาติ คือ แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.5 ไม่รู้ว่า คำว่ายุทธศาสตร์คืออะไร อธิบายไม่ได้ว่า คืออะไร ในขณะที่เพียงร้อยละ 6.5 รู้และอธิบายได้ชัดเจน แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.4 ได้ยินคำว่า ยุทธศาสตร์ บ่อยมากถึงมากที่สุด นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์เจาะลึกยังพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่ระบุว่า ยุทธศาสตร์ของส่วนกลางมีเยอะมาก สร้างความสับสนยุ่งยากในการนำไปสู่นโยบายและการปฏิบัติ

ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงความเห็นต่อคำว่า ความเหลื่อมล้ำ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.2 ระบุเป็นคำที่เข้าใจยาก ใช้ภาษายาก ในขณะที่ร้อยละ 20.8 ระบุเป็นคำที่เข้าใจง่าย แต่ เมื่อถามว่าความเหลื่อมล้ำที่ต้องการให้แก้ไขด่วนที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.4 ระบุความเหลื่อมล้ำด้าน รายได้ รองลงมาคือ ร้อยละ 11.6 ระบุความเหลื่อมล้ำด้านที่ทำกิน รองๆ ลงไปคือ ด้าน การศึกษา การเข้าถึงบริการสุขภาพ สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค และความยุติธรรม ที่น่าสังเกตคือ ความเหลื่อมล้ำด้านการเมือง มีเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้นที่ระบุว่าต้องการให้แก้ไขเร่งด่วนที่สุด

ดร.นพดล กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ข่าวสารที่ไปถึงแกนนำชุมชนอาจจะยังไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศจากส่วนกลางมีปัญหาอุปสรรคตั้งแต่ก้าวแรกเพราะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ดีต้องเริ่มต้นจากการรับรู้ ความเข้าใจต่อตัวยุทธศาสตร์ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงสุดไปยังผู้ปฏิบัติว่ายุทธศาสตร์คืออะไร และยิ่งเป็นเรื่องสำคัญเชิงนโยบายของส่วนกลางยิ่งต้องให้ทุกคนทุกภาคส่วนรู้และเข้าใจตรงกัน และไม่ควรจะมีหลายยุทธศาสตร์มากเกิน ควรมียุทธศาสตร์จำนวนไม่มากเพื่อให้ทุกคนทุกระดับจำได้ว่าส่วนกลางมียุทธศาสตร์อะไรผลที่ตามมาคือ พลังในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จะเกิดขึ้น ดังนั้นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศในเวลานี้น่าจะได้รับการทบทวนเร่งด่วนให้ทันต่อเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด