PTG พร้อมผู้ร่วมทุน เดินหน้าลงนามซื้อเครื่องจักร ในโครงการ “ปาล์ม คอมเพล็กซ์”

28 Sep 2015
PTG และผู้ร่วมทุน ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในนาม PPP Green Complex จำกัด (ทริปเปิลพี กรีน คอมเพล็กซ์) ร่วมลงนามซื้อเครื่องจักรกับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ รวม 3 แห่ง พร้อมเดินหน้าเต็มกำลังสร้างโครงการปาล์ม คอมเพล็กซ์ ครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย คาดว่าแล้วเสร็จปี 2560

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) พร้อมผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทท่าฉางอุตสาหกรรม หรือ ทีซีจี (TCG) และ บริษัท อาร์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด ในนามของ บริษัท PPP Green Complex จำกัด (ทริปเปิลพี กรีน คอมเพล็กซ์) เพื่อดำเนินธุรกิจในโครงการปาล์ม คอมเพล็กซ์ (Palm Complex) ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับ โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงผลิตไบโอดีเซล และโรงผลิตน้ำมันพืชเพื่อบริโภค ร่วมกับบริษัทคู่ค้าชั้นนำในต่างประเทศ

โดยมีบริษัทคู่ค้าร่วมด้วยกันทั้งหมด 3 บริษัท ได้แก่ LIPICO Technologies Pte Ltd., C.M.BERNARDINI INTERNATIONAL S.p.A และ MASTECH CITY ENGINEERING (M) SDN. BHD. โดยมูลค่าเงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท จากงบลงทุนทั้งหมดของโครงการ 4,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการปาล์ม คอมเพล็กซ์ เป็นธุรกิจผลิตปาล์มน้ำมันครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยที่ทันสมัยที่สุด พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ บนเนื้อที่อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จในปี 2560

"การเซ็นสัญญาซื้อขายในครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของโครงการ "ปาล์ม คอมเพล็กซ์" หลังจากการจัดตั้งบริษัทฯ เพื่อดำเนินการในโครงการนี้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศให้ทัดเทียมกับต่างชาติทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้" นายพิทักษ์กล่าว

นายพิทักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ "ปาล์ม คอมเพล็กซ์" นั้น ถือเป็นโครงการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย โดยโครงการดังกล่าวจะดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลผลิตจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจร ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คือ เริ่มจากสวนปาล์ม สู่โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเข้ากระบวนการผลิต และท้ายที่สุด คือ สู่กระบวนการจัดจำหน่าย

โดยจะประกอบไปด้วยหน่วยผลิตต่างๆ ตั้งแต่ โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงผลิตไบโอดีเซล โรงแยกไข โรงบรรจุน้ำมันปาล์ม โรงไฟฟ้าและไอน้ำ คลังเก็บน้ำมัน และสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันปาล์มจะมีกำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน ในขณะที่โรงบรรจุน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคนั้น มีความสามารถในการผลิตประมาณ 2 แสนลิตรต่อวัน และโรงผลิตไบโอดีเซลมีกำลังการผลิตสูงสุดได้ถึง 4 แสนลิตรต่อวัน