ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ระยะสั้นมีการค้ำประกันวงเงินไม่เกิน 80,000 ล้านบาท “บ. โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)” ที่ระดับ “T1+/Stable”

14 Sep 2015
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ระยะสั้นมีการค้ำประกันของ บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT หรือ ผู้ออกหุ้นกู้) ในวงเงินไม่เกิน 80,000 ล้านบาท ครั้งที่ 1/2558 ที่ระดับ "T1+" พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันภายใต้โครงการ Medium-term Debenture ในวงเงินรวม 60,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "AAA" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ระยะสั้นมีการค้ำประกันของบริษัท ครั้งที่ 2/2557 ที่ระดับ "T1+" ด้วย โดยแนวโน้มยังคง "Stable" หรือ "คงที่"

หุ้นกู้ทั้งหมดของบริษัทได้รับการค้ำประกันโดย Toyota Motor Finance (Netherlands) B.V. (TMF หรือ ผู้ค้ำประกัน) โดย TMF เป็นบริษัทลูกของ Toyota Financial Service Corporation (TFS) ที่ถือหุ้น 100% โดย Toyota Motor Corporation (TMC) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มโตโยต้า บริษัททั้ง 3 แห่งคือ TMF TFS และ TMC ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับ "AA-" จาก Standard & Poor's และระดับ "Aa3" จาก Moody's Investors Service (Moody's) รวมทั้งได้รับการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นที่ระดับ "A-1+" จาก Standard & Poor's และ "P-1" จาก Moody's ด้วย อันดับเครดิตหุ้นกู้ระยะสั้นและระยะปานกลางของ TLT สะท้อนถึงการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้โดย TMF ซึ่งอันดับเครดิตของ TMF อยู่บนพื้นฐานของสถานะอันดับเครดิตของ TMC ภายใต้โครงสร้างการค้ำประกันดังกล่าว TMC ได้ทำสัญญาให้การสนับสนุนสินเชื่อ (Credit Support Agreement - CSA) กับ TFS ในขณะเดียวกัน TFS ก็ได้ทำสัญญา CSA กับ TMF ด้วยเช่นกัน ภายใต้เงื่อนไขของสัญญา CSA ดังกล่าว TMC จะทำหน้าที่รักษาสภาพคล่องทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับรองรับภาระหนี้หุ้นกู้ หรือพันธบัตร และตราสารทางการเงิน (Commercial Paper) อื่น ๆ ของบริษัทลูกซึ่งได้แก่ TFS และ TMF นอกจากนี้ TMC จะเป็นผู้จัดหาสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอสำหรับเงื่อนไขการค้ำประกันของ TMF ด้วย ทั้งนี้ การค้ำประกันของ TMF บังคับใช้ภายใต้กฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์โดยเป็นการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้ ซึ่งผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระเงินตามกำหนดเวลาของหุ้นกู้แต่ละชุดที่ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ของ TLT ทั้งนี้ ภาระการค้ำประกันของ TMF มีสถานะทางกฎหมายอยู่ในระดับเดียวกับตราสารหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิอื่น ๆ ของผู้ค้ำประกันที่ออกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือเพิกถอนโดยปราศจากการยินยอมทั้งจากตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้ค้ำประกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ค้ำประกันไม่มีภาระในการชำระหนี้ใดใดแทนในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ด้วยเหตุอันเกิดจากการเข้าแทรกแซงหรือการกระทำต่าง ๆ โดยองค์กรใดใดของรัฐบาลไทย ดังนี้ (1) ชะงักการชำระเงินเนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถโอนเงินไปให้นายทะเบียน หรือผู้ถือหุ้นกู้ หรือไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินที่ต้องชำระตามหุ้นกู้ (2) ทำให้ต้องมีการโอนการถือหุ้นข้างมากหรือการควบคุมผู้ออกหุ้นกู้ไปยังองค์กรอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกของกลุ่มโตโยต้า (3) การเวนคืนหรือการโอนซึ่งทรัพย์สินของผู้ออกหุ้นกู้ให้เป็นของรัฐซึ่งมีมูลค่ารวมอย่างน้อย 10% ของมูลค่าสุทธิของสินเชื่อเช่าซื้อสุทธิของผู้ออกหุ้นกู้และบริษัทลูกของผู้ออกหุ้นกู้ และ (4) การเวนคืนหรือการโอนทรัพย์สินให้เป็นของรัฐอันมีผลทำให้ผู้ออกหุ้นกู้และบริษัทลูกของผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีน้อยมาก

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความน่าเชื่อถือของบริษัทแม่ลำดับสุดท้ายของ TLT คือ TMC โดยอันดับเครดิตองค์กรในปัจจุบันของ TMC ในระบบ International Scale ที่ระดับ "AA-/Stable" ซึ่งจัดโดย Standard & Poor's และ "Aa3/Stable" โดย Moody's สะท้อนสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของ TMC เมื่อเทียบกับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ได้รับอันดับเครดิตที่ระดับ "AAA" จากทริสเรทติ้ง ซึ่งเป็นอันดับเครดิตที่สูงที่สุดในระบบ National Scale อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตสำหรับหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ TLT อาจมีการปรับเปลี่ยนหากเกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพเครดิตของ TMC

TMC รายงานยอดขายรวมของรถยนต์ที่จำนวน 8.972 ล้านคันในรอบปีบัญชี 2558 (เมษายน 2557 - มีนาคม 2558) ซึ่งลดลงจากระดับ 9.116 ล้านคันในรอบปีบัญชี 2557 บริษัทมียอดขาย 2.114 ล้านคันในช่วงไตรมาสแรกของรอบปีบัญชี 2559 เทียบกับยอดขาย 2.241 ล้านคันในช่วงเวลาเดียวกันของรอบปีบัญชี 2558 แม้ว่ายอดขายจะลดลง แต่ผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนตั้งแต่ปลายปี 2555 ส่งผลให้กำไรสุทธิของ TMC ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,173 พันล้านเยนในรอบปีบัญชี 2558 จาก 1,823 พันล้านเยนในรอบปีบัญชี 2557 กำไรสุทธิยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 646 พันล้านเยนในช่วงไตรมาสแรกของรอบปีบัญชี 2559 หรือเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของรอบปีบัญชี 2558 บริษัทยังคงมีสถานะทางการตลาดและการแข่งขันที่เข้มแข็งซึ่งได้รับแรงหนุนจากการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและตลาดที่กระจายตัวกว้างขวาง ตลอดจนความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และความเสี่ยงทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT)อันดับเครดิตตราสารหนี้: หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงิน 60,000 ล้านบาท ในโครงการ Medium-term Debenture: - TLT15NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,115 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 AAA- TLT162A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AAA- TLT164A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AAA- TLT165A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AAA- TLT168A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AAA- TLT16NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,185 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AAA- TLT174A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AAA- TLT175A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AAA- TLT175B: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AAA- TLT176A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AAA- TLT17NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AAA- TLT184B: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 AAA- TLT188B: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 AAA- TLT198B: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 AAAหุ้นกู้ระยะสั้นมีการค้ำประกันในวงเงิน 80,000 ล้านบาท ในโครงการ Short-term Debenture ครั้งที่ 2/2557 T1+หุ้นกู้ระยะสั้นมีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 80,000 ล้านบาท ในโครงการ Short-term Debenture ครั้งที่ 1/2558 T1+แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable