2 แอนิเมชั่นจาก มจธ. ลุ้น DigiCon6 Asia 2015

26 Oct 2015
ทีมเด็กวัด และ ทีมบัวตอง จากภาควิชามีเดียอาตส์ มจธ. เสนอสองผลงานแอนิเมชั่นด้านวัฒนธรรมไทยไปแข่งขัน DigiCon6 Asia ครั้งที่ 17 ที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับอีก 3 ทีมตัวแทนจากประเทศไทย
2 แอนิเมชั่นจาก มจธ. ลุ้น DigiCon6 Asia 2015

ปัจจุบันเทคนิคแอนิเมชั่นถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการสื่อสารในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา ละคร ภาพยนตร์ ที่ผ่านมามีผลงานจำนวนไม่น้อยแสดงให้เห็นว่าแอนิเมชั่นฝีมือคนไทยนั้นไม่ได้เป็นรองชาติอื่นๆ เลยล่าสุดนักศึกษาจาก คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันแอนิเมชั่นในระดับเอเซีย โดยสามารถคว้ารางวัลระดับประเทศมาได้ถึง 2 ทีมได้แก่ "ทีมเด็กวัด" และ "ทีมบัวตอง" ในการประกวด DigiCon6 Asia Thailand Awards ครั้งที่ 17 ประจำปี 2015 โดย "ทีมเด็กวัด" ซึ่งประกอบด้วย นายจตุพล อรุณสวัสดิ์ นายพีรพัชร เลขะกุล และ นายชวนัฎ รัตนปราการ สามารถคว้ารางวัล "Gold Prize" ชนะเลิศระดับประเทศ จากผลงาน "Festival Rush" ซึ่งจะเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ โดย ชวนัฎ ตัวแทนทีมกล่าวว่าผลงานนี้เริ่มจากการศึกษาในเรื่ององค์ประกอบทางด้านสัญลักษณ์ของงานวัดไทยเพื่อนำมาใช้ในแอนิเมชั่น 2D เรื่องนี้ โดยการลงพื้นที่สำรวจงานวัดถึง 4 แห่ง คือวัดบางพลีใหญ่ หรือวัดหลวงพ่อโต วัดพระปฐมเจดีย์ วัดพระสมุทรเจดีย์ และวัดภูเขาทอง"Festival Rush เป็นการนำเสนอกลิ่นอายและความสนุกสนานของงานวัดไทย ซึ่งงานวัดส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน จะต่างกันที่วัฒนธรรมแต่ละพื้นถิ่นเท่านั้น เราจึงศึกษาโดยยึดหลักองค์ประกอบทางสัญลักษณ์และหยิบยกมา 3 องค์ประกอบหลักคือ แสงสี ผู้คน และ สิ่งประกอบฉาก จริงๆ แล้วงานวัดนั้นเกิดจากองค์ประกอบหลายอย่างมารวมกัน บางคนอาจมองว่าแค่มีชิงช้าสวรรค์ก็เป็นงานวัดแล้ว แต่มองอีกมุมหนึ่งอาจเป็นสวนสนุกก็ได้ เราจึงต้องเก็บรายละเอียดขององค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้มาสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นกลางมากที่สุดและเป็นมาตรฐานที่คนทั่วไปจะสามารถรับรู้ได้ว่านี่คืองานวัดของไทย"

ทางด้าน "ทีมบัวตอง" ซึ่งประกอบด้วย นางสาวศุภกร เจริญวัฒนชัย นายสุธากร สมีน้อย และนายอภินันท์ เตียวสุวรรณ ได้รับรางวัล "Next generation" โดย สุธากร ตัวแทนทีม กล่าวว่า ผลงานเรื่อง "BuaTong" เริ่มจากความต้องการนำศิลปวัฒนธรรมล้านนามาผสมผสานกับแอนิเมชั่น เนื่องจากวัฒนธรรมล้านนาเป็นสิ่งที่มีมายาวนานคงอยู่จนถึงปัจจุบัน และมีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะเรื่องของการบูชาผีที่ยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน จากการค้นคว้าได้พบกับเรื่องของตำนาน "ผีกะ" ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีแค่เพียงคนเก่าแก่เท่านั้นที่รู้จักจึงนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลงานชิ้นนี้

"ผีกะเป็นผีที่มอบความสวยงามให้กับคนเลี้ยงโดยมีข้อแลกเปลี่ยนเป็นอาหารแต่ถ้าเลี้ยงไม่ดีผีจะให้โทษแก่คนเลี้ยงซึ่งเราคิดว่าเป็นคอนเซ็ปที่แข็งแรงจึงนำมาพัฒนาเป็นเรื่องบัวตอง แต่มีความยากอยู่ว่าผีกะนั้นไม่มีรูปร่างหน้าตาที่แท้จริง ตำราแต่ละเล่มก็พูดถึงผีกะในแบบที่ต่างกันออกไป บางตำราว่าเหมือนข้าง บางตำราว่าเหมือนนกเค้าแมว ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายที่เราจะต้องออกแบบผีกะให้ใกล้เคียงกับตำนานมากที่สุด โดยใช้เทคนิคการสร้างตัวละครแบบ 3D ผสมผสานกับฉาก 2D และ cel-shade สื่อสารออกมาเป็นเรื่องที่แปลกใหม่และหักมุม"

นอกจากนั้น อภินันท์ ยังได้กล่าวเสริมด้วยว่าเรื่องย่อของ BuaTong กล่าวถึงเด็กสาวคนหนึ่งที่ชื่อบัวตองเลี้ยงผีกะเพราะผีกะให้ความสวยงามแก่ใบหน้าของเธอ แต่บัวตองไม่พอใจในสิ่งที่มีสุดท้ายจึงต้องรับผลจากความโลภของตัวเอง ดังนั้นแนวคิดในการทำเรื่องบัวตองนี้เป็นการนำเรื่องของผีกะมาเป็นตัวเดินเรื่องเพื่อสอดแทรกข้อคิดให้แก่คนดูให้รู้จักคำว่าพอ เพราะอะไรก็ตามที่เราต้องการมันมากเกินไปสุดท้ายเราจะกลายเป็นทาสของสิ่งนั้น

ทั้งสองผลงานนี้ถือเป็นตัวอย่างแอนิเมชั่นฝีมือคนไทยที่มีความโดดเด่นในเรื่องแนวคิดและเทคนิค โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ทั้งสองผลงานจะถูกส่งไปแข่งขันต่อใน TBS.Digicon6 Asia ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปติดตามผลงานของทั้งสองทีมนี้ได้ทางเว็บไซต์ youtube และขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมให้คะแนนลุ้นรางวัล popular vote ได้ใน www.facebook.com/digicon6 ภายในวันที่ 14 พฤศจิกายน นี้