สพฉ.เตือนอุบัติเหตุที่อาจเกิดในการจุดประทัดในเทศกาลออกพรรษา ชี้มีอันตรายต่อร่างกาย 3 ทาง ผิวหนัง นิ้วมือ และดวงตา พร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับอันตรายจากประทัด

28 Oct 2015
วันออกพรรษาถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาของไทย โดยในหลายพื้นที่จะมีการจุดประทัดในวันสำคัญทางศาสนาครั้งนี้ โดยนพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ออกมาเตือนประชาชนถึงอันตรายจากการจุดประทัดว่า การจุดประทัดนั้นจะต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ควรจุดประทัดภายในบ้านเรือน ใกล้แนวสายไฟ เพราะประกายไฟอาจกระเด็นไปติดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดเพลิงไหม้ และไม่ควรจุดประทัดครั้งละจำนวนมาก เพราะแรงระเบิดจากประทัดอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะการจุดประทัดที่มีสายชนวนสั้น จุดไม่ติดก็ไม่ควรจุดซ้ำ และที่สำคัญห้ามโยนประทัดใส่กลุ่มคนเด็ดขาด ทั้งนี้ประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ เป็นวัตถุอันตรายที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย 3 ทาง คือ 1.ทางผิวหนัง คือเกิดแผลไหม้จากแรงระเบิด 2.ทางนิ้วมือ คืออาจทำให้นิ้วมือ หรืออวัยวะขาด เนื่องจากแรงระเบิด และ 3.ทางตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่บอบบางที่สุด คืออาจทำให้ตาดำไหม้ ขุ่นมัว เลือดออกช่องหน้าม่านตา และอาจทำให้ตาบอดถาวรได้

เลขาธิการสพฉ.ยังได้แนะถึงวิธีปฐมพยาบาลสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากประทัดว่า ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากการจุดประทัด อาทินิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดนั้น ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ทั้งนี้ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้ นอกจากนี้ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน ส่วนวิธีการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดคือ ให้นำสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในน้ำแข็ง โดยอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. ส่วนบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชม.

นพ.อนุชากล่าวแนะนำเพิ่มเติมว่า หากได้รับบาดเจ็บทางตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากทันที และสำหรับการปฐมพยาบาลสำหรับแผลไฟไหม้นั้นให้ถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ถูกไฟเผาไหม้ออก โดยห้ามใช้น้ำมัน โลชั่น ยาสีฟันหรือยาปฏิชีวนะทาบนแผลเด็ดขาด แต่หากพบว่ามีบาดแผลไฟไหม้วิกฤติ คือมีแผลขนาดใหญ่ หรือไหม้ลวกทางเดินหายใจ และมีการอาการกลืนลำบาก เสียงแหบ หายใจใจลำบาก หรือมีอาการสูดควันจำนวนมาก ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดย ซึ่งจะมีทีมแพทย์ฉุกเฉิน และทีมกู้ชีพคอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง