รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2558 และ ผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่ดำเนินการโดย สบน. ประจำเดือน ส.ค. 2558

16 Oct 2015
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวการดำเนินงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดังนี้

1. รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2558

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 สิงหาคม 2558 มีจำนวน 5,736,644.08 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.81 ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 18,171.13 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หนี้ของรัฐบาล มียอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 19,508.47 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

· การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 33,000 ล้านบาท

· การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 6,025.17 ล้านบาท มีรายการที่สำคัญ ดังนี้

1. การกู้เงินเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ จำนวน 2,661.08 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 791.67 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และสายสีม่วง การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 68.02 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 8 สายทาง และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,801.39 ล้านบาท สำหรับโครงการซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-600

2. การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ จำนวน 3,147 ล้านบาท

· การชำระหนี้ต้นเงินกู้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 20,345 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟู (FIDF 1) จำนวน 13,466.33 ล้านบาท และภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระยะที่ 2 (FIDF 3) จำนวน 6,878.67 ล้านบาท

หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน มียอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 5,293.34 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

· ผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ เพิ่มขึ้น 6,685.19 ล้านบาท

· การชำระคืนหนี้มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้หนี้ลดลง 1,391.85 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระหนี้ต่างประเทศ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 1,599.39 ล้านบาท การไถ่ถอนพันธบัตรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2,000 ล้านบาท และการออกพันธบัตรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 3,000 ล้านบาท เพื่อการลงทุนตามโครงการและเป็นเงินบาทสมทบสำหรับโครงการเงินกู้ต่างประเทศ

หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 7,478.14 ล้านบาท โดยมีรายการที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรชำระหนี้เงินต้นที่กู้มาเพื่อดำเนินโครงการรับจำนำข้าว โดยใช้เงินจากการระบายข้าว จำนวน 5,460 ล้านบาท และธนาคารอาคารสงเคราะห์ไถ่ถอนพันธบัตรที่กู้มาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนด จำนวน 2,000 ล้านบาท v หน่วยงานของรัฐ มียอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 847.46 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อดำเนินโครงการการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในฤดูผลิต ปี 2557/2558 จำนวน 872.31 ล้านบาท

หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2558 เท่ากับ 5,736,644.08 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ในประเทศ 5,384,061.20 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.85 และหนี้ต่างประเทศ 352,582.88 ล้านบาท (ประมาณ 10,052.92 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 6.15 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และหากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 155,838.10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล ณ 31 สิงหาคม 2558) หนี้ต่างประเทศ จะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.45 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ

โดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5,542,534.01 ล้านบาท หรือร้อยละ 96.62 และ มีหนี้ระยะสั้น 194,110.07 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.38 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

2. รายงานผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่ดำเนินการโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ประจำเดือนสิงหาคม 2558สบน. มีการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ วงเงินรวม 73,407 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ของรัฐบาล จำนวน 61,744.57 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 11,662.43 ล้านบาท

การบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 61,744.57 ล้านบาท ประกอบด้วย

· ผลการกู้เงินในประเทศของรัฐบาล จำนวน 37,081.69 ล้านบาท

1. การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 33,000 ล้านบาท

2. การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ จำนวน 75 ล้านบาท

3. การเบิกจ่ายเงินกู้ให้กู้ต่อ จำนวน 859.69 ล้านบาท

4. การเบิกจ่ายเงินกู้บาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ จำนวน 3,147 ล้านบาท

· การกู้เงินและเบิกจ่ายเงินกู้จากต่างประเทศของรัฐบาล กระทรวงการคลังได้มีการเบิกจ่ายเงินกู้และการลงนามสัญญาเงินกู้จากต่างประเทศ จำนวน 1,943.48 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. การกู้เงิน Euro Commercial Paper หรือ ECP Programme จำนวน 1,801.39 ล้านบาท เพื่อให้กู้ต่อแก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับโครงการซื้อเครื่องบิน แอร์บัส A340-600

2. การเบิกจ่ายเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย จำนวน 142.09 ล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง

· การชำระหนี้ของรัฐบาล จำนวน 22,719.40 ล้านบาท แบ่งเป็น

1. การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 672.44 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ชำระต้นเงิน จำนวน 374.49 ล้านบาท ซึ่งเป็นการชำระหนี้ต่างประเทศ โดยใช้เงินงบประมาณทั้งจำนวน
  • ชำระดอกเบี้ย จำนวน 297.95 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณทั้งจำนวน แบ่งเป็น ดอกเบี้ยหนี้ในประเทศ 164.70 ล้านบาท และดอกเบี้ยหนี้ต่างประเทศ 133.25 ล้านบาท

2. การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 22,046.96 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แบ่งเป็น

  • การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 1) จำนวน 13,588.68 ล้านบาท โดยเป็นการชำระต้นเงิน 13,466.33 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 122.35 ล้านบาท
  • การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 3) จำนวน 8,458.28 ล้านบาท โดยเป็นการชำระต้นเงิน 6,878.66 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 1,579.62 ล้านบาท

การบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 11,662.43 ล้านบาท ประกอบด้วย

· การกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินในประเทศของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในรูปของพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เพื่อการลงทุนตามโครงการและเป็นเงินบาทสมทบสำหรับโครงการเงินกู้ต่างประเทศ

· การเบิกจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 62.43 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ของการประปานครหลวง สำหรับโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 8

· การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 8,600 ล้านบาท ประกอบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 5,300 ล้านบาท และการเคหะแห่งชาติ 3,300 ล้านบาท