รัฐมนตรีเกษตรฯ แจงแนวทางการพัฒนาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานของนมโรงเรียนให้สูงขึ้นภายในปี 2560

21 Oct 2015
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงนโยบายและแนวทางในการพัฒนาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานของนมโรงเรียนให้สูงขึ้นภายในปี 2560 ว่า จากคำแถลงนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2557 ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยเน้นย้ำในเรื่องคุณภาพและความโปร่งใส เพื่อให้นักเรียนทั้งประเทศได้ดื่มนมคุณภาพดีอย่างทั่วถึง รวมทั้งการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์โคนม อย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานของนมโรงเรียนให้สูงขึ้นภายในปี 2560 โดยมีแนวทางการพัฒนาและปรับปรุง คือ

1. เพิ่มความเข้มข้นของนม (Total solid) ที่นำมาใช้ผลิตนมโรงเรียน จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 11.5% จะต้องเพิ่มเป็น 12% ในภาคเรียนที่จะถึงนี้ (เทอม 2/2558) และ จะต้องมีความเข้มข้นของนม ที่ระดับ 12.5% ในภาคเรียนต่อไปตามลำดับ ภายในปี 2560

2. ฟาร์มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน จะต้องปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม (Good Manufacturing Practice : GAP) โดยปรับปรุงคุณภาพและสุขอนามัยของของน้ำนมให้ดียิ่งขึ้น โดยจะต้องลดค่าเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนม (Somatic cell count) จากมาตรฐานเดิมไม่เกิน 1 ล้านเซลล์ จะต้องลดลงเหลือไม่เกิน 750,000 เซลล์ ภายในภาคเรียนเทอมหน้า และมีเป้าหมายที่จะลดค่าเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนม ไม่เกิน 500,000 เซลล์ ภายในปี 2560

3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบติดตามคุณภาพผลิตภัณฑ์นม ตั้งแต่น้ำนมดิบ จนถึงผลิตภัณฑ์นมที่ออกจากโรงงาน

4. เพิ่มแผนสุ่มตรวจนมที่มีปัญหาในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล การขนส่งนมโรงเรียนเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดย อย. และกรมปศุสัตว์ จะดำเนินการร่วมกัน โดยความร่วมมือจาก องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่

5. ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรโควต้านมโรงเรียนให้เป็นธรรม โปร่งใส และตอบสนองความต้องการและประโยชน์แก่นักเรียน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และสหกรณ์

แผนการปรับปรุงและพัฒนาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านคุณภาพและความโปร่งใสในการบริหารจัดการโครงการนมโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนทั้งประเทศได้ดื่มนมที่มีคุณภาพดีอย่างทั่วถึง รวมทั้งการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์โคนมอย่างยั่งยืน เพื่อให้อุตสาหกรรมนมของประเทศพัฒนาต่อไป

ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตน้ำนมโค ภายใต้การปรับโครงสร้างการผลิตและความมั่นคงของทางอาหารด้านการปศุสัตว์ ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตน้ำนมดิบอย่างครบวงจร โดยรัฐบาลได้ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แก่สหกรณ์โคนมที่เข้าร่วมโครงการ ในระยะแรก 3 สหกรณ์ เป็นเงินกว่า 900 ล้านบาท และในระยะต่อไปจะได้ขยายผลอีกกว่า 20 สหกรณ์ เพื่อสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์จัดหน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม (Dairy Herd Health Unit) จำนวน 35 หน่วย ลงพื้นที่ช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ