PwC คาด 3-5 ปี เม็ดเงินลงทุน 'ฟินเทค’ ทั่วโลกพุ่งแตะ 5.3 ล้านล้านบาท

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          PwC คอนซัลติ้ง เผยผลสำรวจพบธุรกิจฟินเทค (Financial Technology: FinTech) บูมไม่เลิก คาดเห็นเม็ดเงินกว่า 5.3 ล้านล้านบาทจากผู้เล่นในหลากหลายธุรกิจไหลเข้ามาลงทุนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หวังแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจให้บริการทางการเงิน ชี้นายแบงก์ทั่วโลกหวั่นสูญมาร์เก็ตแชร์เกือบ 1 ใน 4 ให้ฟินเทค พร้อมแนะผู้ประกอบการทำความเข้าใจ Blockchain เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมการทำธุรกรรมบนโลกการเงิน
          นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ Blurred Lines: How FinTech is shaping Financial Services ที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในกลุ่มธุรกิจการเงินและผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ผ่านการสำรวจความคิดเห็นซีอีโอ หัวหน้าสายงานนวัตกรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ และผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ดิจิทัล และเทคโนโลยี จำนวน 544 ราย จาก 46 ประเทศว่า 'ฟินเทค' กำลังเป็นกระแสที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมทางการเงินทั่วโลก โดยผู้ประกอบการในตลาดธุรกิจให้บริการทางการเงินรวมทั้งประเทศไทย ต่างหันมาลงทุนในฟินเทคมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล โดยคาดการณ์ว่า ภายใน 3-5 ปีนับจากนี้ จะมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลถึง 1.5 แสนล้านดอลล่าร์ หรือ 5.3 ล้านล้านบาท ไหลเข้ามาลงทุนในธุรกิจฟินเทค
          "ด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกการแข่งขันขันและรูปแบบธุรกิจของฟินเทครุดหน้าไปมาก ต่อจากนี้เราจะเห็นผู้เล่นหลักอย่างสถาบันการเงิน และบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งผู้ให้บริการโทรคมนาคมเข้ามาลงทุนและแข่งขันกันอย่างดุเดือดในธุรกิจนี้"
          ด้าน นาย จอห์น ชิพแมน หัวหน้าสายงานที่ปรึกษา FinTech ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า เทคโนโลยีของฟินเทคได้เข้ามาเปลี่ยนบทบาทของธุรกิจบริการทางการเงิน (Financial Services) แบบดั้งเดิม ที่เคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมเงินทุน จัดสรรเงินทุน การชำระราคา หรือบริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ด้วยโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้เล่นที่หลากหลายเพียงแค่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็สามารถเข้าสู่ฟินเทคได้จึงเห็นการลงทุนในธุรกิจนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยจากข้อมูลของ PwC's DeNovo platform พบว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนของอุตสาหกรรมฟินเทคขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 5.6 พันล้านดอลลล่าร์ หรือ เกือบ 2 แสนล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านดอลล่าร์ หรือกว่า 4.3 แสนล้านบาท
          ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่า ผู้บริหารสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม (Traditional Financial Institution) กว่า 83% เชื่อว่า ธุรกิจบริการทางการเงินของตนมีความเสี่ยงที่จะเสียผลประโยชน์ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งให้แก่บริษัทผู้ประกอบการฟินเทค โดยผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มที่แสดงความกังวลสูงสุดถึง 95% ขณะที่ 23% ของผู้บริหารภาคธุรกิจการเงินยังมองว่าบริษัทมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจฟินเทคอย่างมีนัยสำคัญ
          แบงก์หวั่นสูญมาร์เก็ตแชร์ให้ฟินเทค
          นางสาว วิไลพร กล่าวว่า หลังจากที่ฟินเทคเข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมการเงิน ทำให้กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินต่างให้ความสำคัญในการหาแนวทางรับมือกับเทคโนโลยีทางการเงินที่เปลี่ยนไป เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและผลประกอบการของบริษัท จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า โดย 67% ของบริษัทที่ทำการสำรวจกังวลว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของฟินเทคจะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของบริษัท ขณะที่ 59% กังวลว่าจะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ให้แก่กลุ่มธุรกิจฟินเทคเช่นกัน ในทางกลับกัน กลุ่มธุรกิจฟินเทคเองก็เชื่อว่าจะสามารถพิชิตส่วนแบ่งการตลาดจากภาคธุรกิจการเงินได้ถึง 33%
          เมื่อพิจารณาธุรกิจให้บริการทางการเงินเป็นรายกลุ่ม พบว่า ธนาคารและผู้ให้บริการการชำระเงิน (Banking and Payments) เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับแรงกดดันจากการเข้ามาของฟินเทคมากที่สุด โดยกลุ่มธนาคารมองว่ามีโอกาสที่จะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 24% ให้แก่ฟินเทคในอีก 5 ปี ข้างหน้า ส่วนกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโอนเงิน (Fund Transfer) และผู้ให้บริการชำระเงินมองว่าบริษัทมีแนวโน้มที่จะเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่กลุ่มฟินเทคสูงถึง 28% ตามด้วยกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Asset Management and Wealth Management) ที่ 22% และกลุ่มธุรกิจประกันภัย (Insurance) ที่ 21%
          "แบงก์และผู้ให้บริการชำระเงินและโอนเงินเป็นสองกลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ตามมาด้วยกลุ่มอื่นๆ ซึ่งความท้าทายตรงนี้จะส่งผลให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและผู้เล่นที่เป็นฟินเทคมากขึ้นในอนาคต ผ่านการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อช่วยเสริมทัพให้แข็งแกร่ง และตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคไปพร้อมๆกัน" นางสาว วิไลพร กล่าว
          สอดคล้องกับผลสำรวจที่ระบุว่า 32% ของผู้บริหารที่ทำการสำรวจมองว่า รูปแบบของการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินกับฟินเทคจะเป็นไปในลักษณะพันธมิตรร่วมทางธุรกิจ (Joint Partnership) อย่างไรก็ดี ความแตกต่างระหว่างบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินกับบริษัทฟินเทคในหลายๆ ด้านยังคงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจทางการเงินแบบดั้งเดิมหลายรายลังเลที่จะตัดสินใจเข้าไปลงทุนอย่างเต็มรูปแบบโดยมองว่าปัจจัยเรื่องความปลอดภัยทางด้านไอที (53%) ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ (49%) และความแตกต่างของรูปแบบธุรกิจ (40%) ยังเป็นความท้าทายประการสำคัญ
          ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการกลุ่มฟินเทคก็มองว่าความแตกต่างในการบริหารจัดการองค์กรและวัฒนธรรมองค์กร (54%) กระบวนการในการปฏิบัติงาน (47%) และความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ (43%) เป็นความท้าทายหลักในการรับมือกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจทางการเงินแบบดั้งเดิมเช่นกัน
          'Blockchain' เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกการเงินที่น่าจับตา
          Blockchain หรือระบบโครงข่ายในการทำธุรกรรมและเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ถือเป็นหนึ่งในวิวัฒนาการสำคัญของ FinTech ที่น่าจับตา ด้วยเทคโนโลยีสมุดบัญชีแยกประเภทแบบกระจายตัว (Distributed Ledger) ของ Blockchain จะช่วยลดต้นทุน และทำให้การทำธุรกรรมมีประสิทธิภาพและโปร่งใส่มากยิ่งขึ้น เพราะการทำธุรกรรมผ่านระบบ Blockchain จะตัดตัวกลางอย่างสถาบันการเงินออกไป ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมถูกลง นอกจากนี้ ผู้ทำธุรกรรมผ่าน Blockchain ยังไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากในการทำธุรกรรมการเงินแต่ละครั้ง ผู้ทำธุรกรรมจะต้องยืนยันตัวตนและถูกตรวจสอบด้วยรหัสผ่านเพื่อใช้สื่อสารกับ Blockchain
          "ในอนาคตหากศักยภาพของ Blockchain ถูกพัฒนาต่อยอดการทำธุรกรรมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing and Settlement) การชำระเงินข้ามแดน (Cross-Border Payments) หรือบริการทางการเงินอื่นๆ ได้ อาจทำให้สถานบันการเงินแบบดั้งเดิมหรือสำนักหักบัญชีต่างๆ ถูกลดบทบาทหรือสูญหายไปก็เป็นได้"
          นอกจากนี้ ศักยภาพของ Blockchain ยังต่อยอดไปถึง Smart Contract หรือระบบดำเนินการและประมวลผลอัตโนมัติเพื่อบังคับผู้ทำธุรกรรมให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เป็นภาระผูกพันของข้อสัญญาที่ตกลงร่วมกันซึ่งระบุไว้บน Blockchain
          ทั้งนี้ ตัวอย่างการนำระบบ Smart Contract มาพัฒนาต่อยอดให้กับธุรกิจฟินเทค เช่น เพิ่มประสิทธิภาพในการกู้ยืมเงิน พัฒนาฟังก์ชั่นการทำงานของสำนักหักบัญชี อำนวยความสะดวกในการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น การหักค่าตั๋วพันธบัตรอัตโนมัติจากผู้ถือพันธบัตรผ่าน Blockchain โดยระบบ Smart Contract จะบังคับให้ดำเนินการทันทีเมื่อถึงกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย ทำให้ในอนาคตเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรในทำรายการดังกล่าว
          อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้บริหารที่ทำการสำรวจถึง 56% จะเล็งเห็นถึงความสำคัญของ Blockchain แต่ก็มีผู้ประกอบการถึง 57% ที่ไม่แน่ใจว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนี้อย่างไร สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจของภาคธุรกิจต่อเทคโนโลยีนี้
นางสาว วิไลพร กล่าวทิ้งท้ายว่า Blockchain และเทคโนโลยีสมุดบัญชีแยกประเภทแบบกระจายตัว ถือเป็นหนึ่งในโอกาสครั้งสำคัญในการเปลี่ยนโฉมใหม่ให้ธุรกิจบริการทางการเงิน แต่ความท้าทายขั้นต่อไปของผู้ประกอบการ คือ การทำความเข้าใจในเทคโนโลยีของ Blockchain และดึงเอาศักยภาพออกมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นคือ ต้องศึกษาถึงโอกาสและความเสี่ยงของ Blockchain ให้ถ่องแท้ก่อนนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรด้วย

PwC คาด 3-5 ปี เม็ดเงินลงทุน 'ฟินเทค’ ทั่วโลกพุ่งแตะ 5.3 ล้านล้านบาท

ข่าววิไลพร ทวีลาภพันทอง+ผู้ประกอบการวันนี้

DigitalCEO8 เรียนรู้ผ่านองค์กรชั้นนำระดับโลก PwC Thailand

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดย ดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล นำคณะผู้อบรมหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital CEO) รุ่นที่ 8 จำนวน 82 คน เรียนรู้ผ่านองค์กรชั้นนำระดับโลก PwC Thailand นายพิสิฐ ทางธนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC (ประเทศไทย) ให้เกียรติต้อนรับผู้อบรม ก่อนนำเข้าสู่การบรรยายพิเศษ "กรณีศึกษา PwC digital Transformation" โดยคุณวิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) จำกัด และหัวข้อ

PwC ประเทศไทย เผยโซลูชันการธนาคารในรูปแบบ... PwC ประเทศไทย เผยโซลูชัน BaaS จิ๊กซอว์สำคัญพลิกโฉมระบบนิเวศทางการเงินของไทย — PwC ประเทศไทย เผยโซลูชันการธนาคารในรูปแบบบริการ หรือ BaaS จะเป็นส่วนสำคัญในก...

PwC ประเทศไทย เผยธนาคารไทยส่วนใหญ่ยังไม่ส... PwC ประเทศไทย ชี้ธนาคารไทยส่วนใหญ่ยังเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลไม่สำเร็จ — PwC ประเทศไทย เผยธนาคารไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลได้สำ...

PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจวางกลยุทธ์เพื่อเปล... PwC แนะธุรกิจไทยวางกลยุทธ์ย้ายโครงสร้างไอทีดั้งเดิมสู่ระบบคลาวด์ — PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจวางกลยุทธ์เพื่อเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีแบบดั้งเดิมสู่...

PwC ประเทศไทย ได้รับรางวัล Microsoft Thai... PwC ประเทศไทย คว้ารางวัล Microsoft Thailand Partner of the Year ประจำปี 2565 — PwC ประเทศไทย ได้รับรางวัล Microsoft Thailand Partner of the Year ประจำปี 2...