รัฐมนตรีเกษตรฯ ไทย หารือรัฐมนตรีประมงฟิจิ ร่วมแก้ปมไอยูยู พร้อมผลักดันความร่วมมือด้านประมงภายใต้กรอบเอ็มโอยู เล็งต่อยอดวิชาการด้านประมงและพัฒนาอุตสาหกรรมประมงร่วมกันทั้งภาครัฐ -เอกชนเพิ่ม

16 Feb 2016
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นายโอเซีย ไนกามู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประมงและป่าไม้ฟิจิ ณ กระทรวงประมงและป่าไม้ฟิจิ ว่า หลังจากไทยและฟิจิ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านประมง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย การพบกันอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มความสัมพันธ์ที่ดีและความร่วมมือกันของสองประเทศในด้านประมงอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันในวันนี้ จะนำไปสู่การขับเคลื่อนในการพัฒนาการประมงของทั้งสองประเทศในอนาคต ซึ่งร่วมดำเนินการภายใต้ MOU มี 3 ประเด็นสำคัญ คือ

1.ความร่วมมือทางวิชาการด้านประมง และอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนด้านการประมงระหว่างกันเพิ่มขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งรายชื่อคณะทำงานร่วมด้านประมง โดยมีอธิบดีกรมประมง เป็นประธานคณะทำงานร่วมฯ โดยคณะทำงานทั้งสองฝ่ายจะได้มีการดำเนินการจัดประชุมคณะทำงานร่วมฯ ต่อไป โดยประเทศไทยยินดีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในครั้งแรก

ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยยินดี ให้ความร่วมมือทางวิชาการกับฟิจิ โดยเฉพาะสาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สัตว์ทะเลต่างๆ ที่ทางฟิจิสนใจ ดังนั้น ทั้งไทยและฟิจิมีการทำประมงและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เหมือนกัน ทั้งสองประเทศจะได้มีการขยายความร่วมมือการทำประมงและพัฒนาอุตสาหกรรมประมงร่วมกันทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

2. . การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ภายใต้นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาไอยูยู โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ร่วมทำงานกับหลายๆ ประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เพราะการแก้ไขปัญหาไอยูยู จะสำเร็จได้ต่อเมื่อมีการทำงานร่วมกัน ดังนั้น ในโอกาสนี้ประเทศไทยจะได้แสดงบทบาทสำคัญในอาเซียน ถึงมาตรการเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาไอยูยูในภูมิภาคอาเซียน โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากฟิจิที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ประเทศไทยจึงขอทราบแนวทางหรือวิธีการในการแก้ไขปัญหาไอยูยู

3. การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการออกเอกสารใบรับรองการจับสัตว์น้ำ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าสินค้าประมงจากฟิจิ ประมาณปีละ 230 ล้านบาท จึงได้ขอทางฟิจิอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการออกเอกสารใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารประกอบการขนถ่ายสัตว์น้ำที่ผู้ประกอบการไทยนำวัตถุดิบสัตว์น้ำจากฟิจิเข้ามาทำการแปรรูปและส่งออก เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งทำการประมงได้ และไม่เป็นสินค้าประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing)

หลังจากการหารือแนวทางการดำเนินการภายใต้ MOU ร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประมงและป่าไม้ฟิจิแล้ว ยังมีโอกาสศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับหน่วยงานของฟิจิและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประมง ได้แก่ กระทรวงประมงและป่าไม้ฟิจิ ณ ฐานทัพเรือ ได้หารือกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหา IUU และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเรียนรู้การแก้ไข IUU ของฟิจิ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประเทศไทยในการแก้ปัญหา

บริษัท โกลเด้น โอเชียน ฟิช จำกัด ดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการทำประมงเบ็ดราวทูน่า การแปรรูปและส่งออกปลาทูน่าปลาน้ำลึกอื่นๆ โดยมีเรือทำประมงราวภายใต้การดูแลของบริษัทมากกว่า 30 ลำ และบริษัท โซแลนเดอร์ ซึ่งใช้วิธีการประมงราวเบ็ดที่ผิวน้ำในการจับปลาสายพันธุ์ทูน่า และสัตว์น้ำสายพันธุ์อื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิจิ และยังมีการทำประมงโดยใช้วิธี Bottom Line ในการจับพันธุ์ปลาด้วย ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนไทยในภาคประมงของทั้งสองประเทศได้เชื่อมความสัมพันธ์ รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกันในด้านวิชาการประมงที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ รวมถึงการค้าการลงทุนด้านการประมงของสองประเทศในอนาคต

สำหรับข้อมูลการค้าสินค้าประมงระหว่างไทย – ฟิจิ พบว่า ในช่วงปี พ.ศ.2556 - 2558 ไทยและฟิจิมีมูลค่าการค้าสินค้าประมง เฉลี่ยปีละ ประมาณ 256 ล้านบาท โดยการค้าสินค้าประมงไทย-ฟิจิ ส่วนใหญ่ไทยจะนำเข้าสินค้าประมงจากฟิจิมากกว่าการส่งออก แบ่งเป็น ไทยนำเข้าสินค้าประมงจากฟิจิประมาณปีละ 230 ล้านบาท สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าประมงสดแช่เย็นแช่แข็ง ทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่มูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 26 ล้านบาท มีสินค้าส่งออกที่สำคัญประกอบด้วย ทูน่ากระป๋อง ปลากระป๋องอื่นๆ